กรรมฐาน 2

กรรมฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน หรือ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงาน หมายถึง อุบายวิธีสำหรับการฝึกจิตเพื่อให้เหมาะแก่การงาน ซี่งการงานในที่นี้หมายถึงงานคือการกำจัดกิเลสเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จของงานคือความพ้นทุกข์ แบ่งตามวิธีการฝึกออกเป็น 2 ประการ คือ

  1. สมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ
  2. วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา

สมถกรรมฐาน

สมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ คือการเจริญกรรมฐานที่เนื่องด้วยบริกรรมอย่างเดียว เป็นการบำเพ็ญเพียรทางจิตโดยใช้สติเป็นหลัก

ตามธรรมดาจิตของบุคคลย่อมฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เมื่อจิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถสงบลงได้

อุบายอย่างหนึ่งอันเป็นเครื่องสงบระงับจิตไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ก็คือการใช้สติยึดเอาอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วบริกรรม โดยทำไว้ในใจจนจิตแนบแน่นในอารมณ์เดียว สามารถระงับนิวรณ์ได้ เป็นจิตมีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่ง เรียกว่า เอกัคคตา

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค จำแนกอารมณ์สมถกรรมฐานไว้ 40 ประการ ประกอบด้วย

  • กสิณ 10
    • ปฐวีกสิณ กสิณคือดิน
    • อาโปกสิณ กสิณคือน้ำ
    • เตโชกสิณ กสิณคือไฟ
    • วาโยกสิณ กสิณคือลม
    • นีลกสิณ กสิณคือสีเขียวคราม
    • ปีตกสิณ กสิณคือสีเหลือง
    • โลหิตกสิณ กสิณคือสีแดง
    • โอทาตกสิณ กสิณคือสีขาว
    • อาโลกกสิณ กสิณคือแสงสว่าง
    • อากาสกสิณ กสิณคือที่ว่างเปล่า
  • อสุภะ 10
    • อุทธุมาตกะ ซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด
    • วินีลกะ ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่างๆ
    • วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตามที่ที่แตกปริออก
    • วิจฉิททกะ ซากศพที่ขาดจากกันเป็น 2 ท่อน
    • วิกขายิตกะ ซากศพที่ถูกสัตว์จิกทึ้งกัดกินแล้ว
    • วิกขิตตกะ ซากศพที่กระจุยกระจาย มือเท้าศีรษะหลุดออกไปข้างๆ
    • หตวิกขิตตกะ ซากศพที่ถูกสับฟันบั่นเป็นท่อนๆ กระจายออกไป
    • โลหิตกะ ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบเรี่ยราดอยู่
    • ปุฬุวกะ ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด
    • อัฏฐิกะ ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกหรือกระดูกท่อน
  • อนุสสติ 10
    • พุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์
    • ธัมมานุสติ ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม
    • สังฆานุสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์
    • สีลานุสติ ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติ บริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย
    • จาคานุสติ ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน
    • เทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้ และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน
    • มรณสติ ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท
    • กายคตาสติ สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา
    • อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
    • อุปสมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์
  • พรหมวิหาร 4
    • เมตตา ความรัก ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
    • กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
    • มุทิตา ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
    • อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา
  • อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1
  • จตุธาตุววัตถาน 1
  • อรูป 4
    • อากาสานัญจายตนะ กำหนดช่องว่างหรืออากาศหาที่สุดไม่ได้เป็นอารมณ์
    • วิญญาณัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดไม่ได้เป็นอารมณ์
    • อากิญจัญญายตนะ กำหนดภาวะไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์
    • เนวสัญญานาสัญญายตนะ เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

ผลสูงสุดที่จะได้จากการเจริญสมถกรรมฐาน คือ สามารถระงับนิวรณ์ 5 ได้ ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ ได้สมาบัติ 8 คือ รูปฌาน 4 และ อรูปฌาน 4

วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา เป็นการฝึกจิตให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งปวง เพื่อให้จิตคลายอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย และหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส

เมื่อฝึกวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง โดยมาพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์ คือ เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ จิตก็จะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่น และหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสได้ในที่สุด

ผลสูงสุดที่พึงหวังได้จากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานก็คือ การบรรลุอรหัตตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา