ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ 2

ปัจจัยที่ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิหรือแนวความคิดที่ถูกต้อง หมายเอาต้นทางของปัญญาและความดีทั้งปวง แบ่งตามสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นมี 2 ประการ คือ

  1. ปรโตโฆสะ เสียงจากผู้อื่น
  2. โยนิโสมนสิการ การคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ

ปรโตโฆสะ

ปรโตโฆสะ คือ เสียงจากผู้อื่น หมายถึง การกระตุ้นเตือนจากภายนอกหรือจากคนอื่น คือการรับฟังคำแนะนำสั่งสอนจากผู้อื่น เช่น การเล่าเรียน การศึกษาหาความรู้ การสนทนาซักถาม การฟังคำบอกเล่าของผู้อื่น การสดับรับฟังสัทธรรมจากผู้เป็นกัลยาณมิตร เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เรามีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบตามคลองธรรมได้

การฟังคำแนะนำจากผู้อื่นนั้น เน้นการฟังจากกัลยาณมิตร จึงจะเป็นทางแห่งสัมมาทิฏฐิ

โยนิโสมนสิการ

โยนิโสมนสิการ คือ การคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ หมายถึง การใช้ความคิดที่ถูกวิธี คิดอย่างแยบคายโดยใช้เหตุผล มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

บางทีการรับฟังผู้อื่นแต่เพียงอย่างเดียวนั้น อาจทำให้ได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดได้ จำเป็นนต้องใช้โยนิโสมนสิการคือการคิดพิจารณาโดยแยบคายร่วมด้วย จึงจะเป็นทางก่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริง

  • ปรโตโฆสะ เปรียบเสมือนแสงสว่างที่นำทาง
  • โยนิโสมนสิการ เปรียบเสมือนดวงตาที่ช่วยให้มองเห็นทาง

สัมมาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่สำคัญสำคัญมากสำหรับการดำรงชีวิต เพราะเป็นเครื่องช่วยให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ดี ถูกต้อง ไม่ผิดทาง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จาก ปรโตโฆสะ และ โยนิโสมนสิการ ดังกล่าวแล้ว

เมื่อนำปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิทั้ง 2 ประการมาบรณาการกัน ทำให้สรุปแนวทางในการสร้างสัมมาทิฏฐิดังนี้

  • ศึกษาธรรมะจากพระไตรปิฎกหรือจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ
  • ฟังคำสอนจากพระภิกษุผู้ทรงศีลทรงธรรมหรือผู้รู้
  • พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกัลยาณมิตร
  • ฝึกคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
  • ตั้งคำถาม หาคำตอบ
  • ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ
  • พิสูจน์ด้วยตัวเอง