ทิฏฐิ 2

ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น มุมมอง หรือ ความคิดเห็น เป็นคำกลาง ๆ ไม่ระบุว่าเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว แต่คำว่า ทิฏฐิ ในหัวข้อธรรมข้อนี้ หมายเอาความเห็นผิด หรือ มิจฉาทิฏฐิ นั่นเอง ซึ่งเป็นความเห็นนอกพุทธศาสนา เป็นความเห็นที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตรัสสอน ไม่ได้ทรงแนะนำ ไม่ได้ทรงสรรเสริญ แต่พระองค์ตรัสว่าเป็นความเห็นที่ควรละ ไม่ควรยึดถือ มี 2 อย่าง คือ

  1. สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง
  2. อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ

สัสสตทิฏฐิ

สัสสตทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเที่ยง ได้แก่ ความเห็นว่าอัตตาและโลกเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน ยั่งยืน คนที่มีความเห็นเช่นนี้จะเชื่อว่า มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้ว มีเพียงร่างกายเท่านั้นที่เสื่อมสลายไป ส่วนอัตตา หรือ อาตมัน (วิญญาณ) จะถือปฏิสนธิใหม่ไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันดับสูญ คือตายแล้วเกิดใหม่ไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งขัดต่อหลักนิพพานที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอน เพราะพระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า หากสามารถเข้าถึงนิพพานได้ ก็สามารถตัดภพตัดชาติได้ คือไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

นอกจากนี้ สัสสตทิฏฐิ ยังแยกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

  • ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มนุษย์และสัตว์เมื่อตายไปแล้ว เคยเกิดเป็นอะไรก็จะเกิดเป็นอย่างนั้นเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มนุษย์และสัตว์เมื่อตายไปแล้ว จะเกิดเป็นอย่างอื่นไปเรื่อย ๆ

อุจเฉททิฏฐิ

อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ คือ เห็นว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้วทั้งร่างกายและวิญญาณก็ดับไปพร้อมกัน ไม่มีการเกิดใหม่อีกแล้ว คือตายแล้วตายเลย ตายแล้วก็ถือว่าจบสิ้น ซึ่งขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายแล้ว หากยังมีตัณหาอันเป็นเชื้อยางให้เกิดอีก ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่รู้จบสิ้น ต่อเมื่อสามารถเข้าถึงนิพพาน หมดตัณหาอันเป็นเชื้อแห่งการเกิดแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถดับภพดับชาติได้

คนที่มีความเห็นเช่นนี้จะไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ เพราะเขาเชื่อว่าตายแล้วก็จบ ดังนั้นบาปบุญคุณโทษก็ไม่มีผลอะไร ไม่ว่าจะทำดีหรือทำชั่วไว้ ตายแล้วก็จบสิ้น

ทิฏฐิทั้ง 2 อย่างนี้ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะ สัสสตทิฏฐิ เป็นความเห็นที่ขัดแย้งกับหลักอนิจจัง ส่วนอุจเฉททิฏฐิ ก็เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกฎแห่งกรรม

สัสสตทิฏฐิ เห็นว่าคนและสัตว์ทั้งหลายเมื่อตายไปแล้วจะปฏิสนธิใหม่หรือเกิดใหม่เรื่อย ๆ ไม่มีวันดับสูญ ในขณะที่พุทธศาสนาเห็นว่า มนุษย์และสัตว์เมื่อตายไปแล้วจะปฏิสนธิใหม่เรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังมีเชื้อให้เกิดคือกิเลส กรรม และวิบาก อยู่ ต่อเมื่อเชื้อหมดไปแล้ว เข้าถึงนิพพานได้แล้ว จึงจะไม่ต้องเกิดใหม่อีก

อุจเฉททิฏฐิ เห็นว่ามนุษย์และสัตว์ตายแล้วขาดสูญ ดีชั่วไม่มีผลเพราะตายแล้วก็ถือว่าจบสิ้น แต่พุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์และสัตว์เมื่อตายไปแล้วก็จะต้องเกิดใหม่อีกตามกรรมที่สร้างไว้ กรรมดีและชั่วมีผลถึงชาติหน้า ต่อเมื่อถึงพระนิพพานหมดเชื้อที่จะเกิดแล้วเท่านั้นจึงจะสิ้นภพสิ้นชาติ

ทิฏฐิทั้ง 2 ประการนี้ เป็นสิ่งที่ควรละ ไม่ควรยึดถือ เพราะจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด ขัดต่อหลักความเป็นจริง ขัดต่อหลักพระไตรลักษณ์ ขัดต่อหลักคำสอนแห่งพุทธศาสนา