รูป 2

รูป 2
รูป หมายถึง สภาวะที่แปรปรวนแตกสลายเพราะปัจจัยต่าง ๆ อันขัดแย้งกัน, ร่างกายและส่วนประกอบฝ่ายวัตถุพร้อมทั้งพฤติกรรมและคุณสมบัติของมัน, ส่วนที่เป็นร่างกับทั้งคุณและอาการ แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1. มหาภูตรูป
มหาภูตรูป คือ สภาวะอันปรากฏได้เป็นใหญ่ ๆ โต ๆ หรือเป็นต่าง ๆ ได้มากมาย, รูปที่มีอยู่โดยสภาวะ หรือรูปต้นเดิม เป็นรูปที่ชัดเจน รับรู้ได้ง่าย และเป็นที่อาศัยของอุปาทายรูป
มหาภูตรูป คือสิ่งที่ธาตุ 4 ประชุมกันขึ้นเป็นกองรูป คือ
- ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่, สภาวะอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกโดยทั่วไปว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือ ธาตุดิน
- อาโปธาตุ สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม หรือซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกโดยทั่วไปว่า ธาตุเหลว หรือ ธาตุน้ำ
- เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกโดยทั่วไปว่า ธาตุไฟ
- วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว เคลื่อนที่ และค้ำจุน เรียกโดยทั่วไปว่า ธาตุลม
2. อุปาทายรูป
อุปาทายรูป คือ รูปอาศัย หมายถึง รูปที่เป็นไปโดยอาศัยมหาภูตรูป ได้แก่ คุณและอาการแห่งมหาภูตรูปนั่นเอง
อุปาทายรูป มี 24 อย่าง แบ่งเป็น
ปสาทรูป รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์มี 5 อย่าง คือ
- จักขุปสาท ประสาทสัมผัสคือตา
- โสตปสาท ประสาทสัมผัสคือหู
- ฆานปสาท ประสาทสัมผัสคือจมูก
- ชิวหาปสาท ประสาทสัมผัสคือลิ้น
- กายปสาท ประสาทสัมผัสคือกาย
โคจรรูป หรือ วิสัยรูป รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ มี 4 อย่าง คือ
- รูปะ รูป
- สัททะ เสียง
- คันธะ กลิ่น
- รสะ รส
ภาวรูป คือ รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ มี 2 อย่าง คือ
- อิตถีภาวรูป รูปที่บ่งบอกความเป็นหญิง
- ปุริสภาวรูป รูปที่บ่งบอกความเป็นชาย
หทัยรูป รูปคือหทัย มีอย่างเดียว คือ
- หทัยวัตถุ ได้แก่ หัวใจ
ชีวิตรูป รูปที่เป็นชีวิต มีอย่างเดียว คือ
- ชีวิตินทรีย์ หมายเอา อายุ ความเป็นไปของร่างกาย การดำรงอยู่สืบเนื่องกัน หรือความหล่อเลี้ยงชีวิต
อาหารรูป รูปคืออาหาร มีอย่างเดียว คือ
- กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว อาหารที่กินเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย
ปริจเฉทรูป รูปที่กำหนดเทศะ รูปที่คอยทำหน้าที่กั้นไม่ให้รูปอื่น ๆ ภายในปะปนกัน มีอย่างเดียว คือ
- อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
วิญญัติรูป รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย, รูปที่คอยกำกับการเคลื่อนไหว มี 2 อย่าง คือ
- กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย
- วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา
วิการรูป รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้, รูปที่เป็นไปด้วยอาการต่าง ๆ มี 3 อย่าง คือ
- ลหุตา ความเบา ความรวดเร็วคล่องแคล่ว ความไม่เชื่องช้า ความไม่หนัก ของรูป
- มุทุตา ความอ่อนสลวย ความอ่อน ความไม่แข็งกระด้าง เช่น การก้ม การเงย การเอี้ยวตัว ความอ่อนไหวของร่างกาย
- กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน คือ ใช้การได้ เช่น ใช้เดิน ยืน นั่ง นอน กิน เป็นต้น
ลักขณรูป รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด, รูปคือความเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะหรืออาการ มี 4 อย่าง คือ
- อุปจยะ ความก่อตัวหรือเติบขึ้น ความเจริญเติบโต
- สันตติ ความสืบต่อ ความเกิดดับสืบเนื่องต่อกัน
- ชรตา ความทรุดโทรม เช่น ผมหงอก หนังเหี่ยว เป็นต้น
- อนิจจตา ความแปรปรวนแตกสลาย