ธรรมคุ้มครองโลก 2

ธรรมคุ้มครองโลก หรือ ธรรมอันเป็นโลกบาล เป็นคุณธรรมเครื่องคุ้มครองชาวโลกไม่ให้ทำความชั่ว คือไม่ให้ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เป็นหลักธรรมที่ทำให้มนุษย์โลกอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุข เพราะคนทั้งหลายที่มีธรรมข้อนี้เป็นหลักปฏิบัติ จะดำรงตนอยู่ในหลักศีลธรรมอันดี และไม่เบียดเบียนกัน มี 2 อย่าง คือ

  1. หิริ ความละอายต่อการทำบาป
  2. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป

หิริ

หิริ ความละอายต่อการทำบาป หมายถึง ความละอายใจตัวเองต่อการทำบาปและความชั่วนานาชนิด ละอายต่อการประพฤติทุจริตผิดศีลธรรมนานาประการ มีอาการรังเกียจต่อความชั่ว ไม่กล้าทำความชั่วเพราะขยะแขยงกลัวบาปแปดเปื้อน ดุจกลัวสิ่งปฏิกูลแปดเปื้อนฉะนั้น

  • ลักษณะของหิริ คือ ความรังเกียจบาป
  • หน้าที่ของหิริ คือ ไม่ทำบาปทั้งปวง เพราะละอายใจ

หลักพิจารณาเพื่อให้เกิดหิริ มี 4 อย่าง คือ

  1. พิจารณาถึงชาติตระกูลของตน เช่น คิดว่าการทำความชั่วจะทำให้เสื่อมเสียวงศ์ตระกูลของเรา
  2. พิจารณาถึงวัยของตน เช่น คิดว่าเราโตพอรู้ความแล้ว การทำความชั่วไม่เหมาะกับเรา
  3. พิจารณาถึงกำลังของตน เช่น คิดว่าเราเป็นผู้มีกำลังความสามารถ การทำความชั่วเป็นกิริยาของคนไร้สามารถ ไม่เหมาะกับเรา
  4. พิจารณาถึงความรู้ของตน เช่น คิดว่าเราเองได้เรียนมามากรู้มามากแล้ว รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว การทำความชั่วไม่เหมาะกับเรา

เมื่อพิจารณาดังนี้ จะทำให้หิริคือความละอายต่อการทำบาปเกิดขึ้นมาได้

โอตตัปปะ

โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป หมายถึง ความสะดุ้งกลัว หวาดกลัว ต่อผลของความชั่ว ต่อผลของทุจริตกรรมทั้งปวง มีอาการกลัวต่อทุกข์โทษที่จะเกิดจากการทำความชั่ว เช่น กลัวถูกตำรวจจับ กลัวถูกประณาม กลัวตกนรก เป็นต้น แล้วยับยั้งเสียได้ ไม่ทำความชั่ว

  • ลักษณะของโอตตัปปะ คือ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป
  • หน้าที่ของโอตตัปปะ คือ ไม่ทำบาปทั้งหลาย เพราะสะดุ้งกลัวต่อผลของบาป

เหตุให้เกิดโอตตัปปะ มี 4 อย่าง คือ

  1. กลัวตนเองติเตียนตนเองได้
  2. กลัวผู้อื่นติเตียน
  3. กลัวถูกลงโทษ
  4. กลัวตกนรก

หิริ และ โอตตัปปะ ทั้ง 2 นี้ ได้ชื่อว่าเป็นธรรมคุ้มครองโลก เพราะถ้าทุกคนมีธรรม 2 ข้อนี้ เป็นหลักปฏิบัติประจำชีวิต เป็นหลักคิดประจำใจแล้ว โลกของเราจะเกิดความสงบสุขเป็นอันมาก ไม่มีใครทำความชั่ว ไม่มีใครต้องเดือดร้อนเพราะความชั่วของใคร

เพราะ หิริ จะช่วยให้คนละอายที่จะทำกรรมชั่วช้าลามก ส่วน โอตตัปปะ ก็จะทำให้คนมีความเกรงกลัวต่อผลร้ายอันจะเกิดขึ้นจากการทำกรรมชั่วช้าลามก เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะไม่มีใครทำกรรมชั่ว โลกย่อมจะสงบสุขดังที่กล่าว

ธรรมทั้ง 2 ข้อนี้ ยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก คือ

  • เทวธรรม คือ ธรรมที่ทำให้คนไปเกิดเป็นเทวดา หรือธรรมที่ทำให้คนประเสริฐดุจเทวดา
  • สุกกธรรม คือ ธรรมอันขาว หมายถึง ธรรมที่ทำให้คนมีความประพฤติขาวสะอาด