ธรรมมีอุปการะมาก 2

ธรรมมีอุปการะมาก หรือ พหุปการธรรม คือ ธรรมที่เกื้อกูลสนับสนุนการทำกิจทุกอย่างในชีวิตรวมถึงการเจริญกุศลธรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยดี ไม่ให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย และได้รับผลสำเร็จตามประสงค์ เป็นคุณธรรมที่ส่งเสริมให้มีความรอบคอบ ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำ พูด คิด หรือทำกิจใด ๆ ก็ตาม มีอยู่ 2 อย่าง คือ

  1. สติ ความระลึกได้
  2. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อม

สติ

สติ คือ ความระลึกได้ หมายถึง ความระลึกนึกขึ้นได้ ฉุกคิดขึ้นได้ ถึงสิ่งที่ทำ พูด คิด เป็นอาการที่จิตไม่หลงลืม ไม่เผลอไผล มีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำตลอดเวลา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความไม่ประมาท

ลักษณะของสติ คือ ความระลึกได้ หน้าที่ของสติ คือ จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ ไม่หลงลืม และกำจัดความประมาท

สตินั้นสามารถระลึกได้ทั้ง 3 กาล คือ

  1. ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้วได้ เช่น ระลึกถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้วในอดีต
  2. ระลึกถึงสิ่งที่เป็นปัจจุบันได้ เช่น ระลึกถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน
  3. ระลึกถึงสิ่งอันจะมีขึ้นในภายหน้า เช่น มรณานุสสติ ระลึกถึงความตายอันจะมีแก่ตนแน่นอนในอนาคต

ในแง่ของการปฏิบัติธรรม สติ หมายถึง การคอยระงับยับยั้งใจไม่ให้หลงเคลิบเคลิ้มไปกับอำนาจของกิเลส ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส หรือกายถูกต้องสัมผัส การมีสติอยู่เสมอในขณะปฏิบัติธรรม เป็นเครื่องช่วยป้องกันกิเลสได้เป็นอย่างดี

สัมปชัญญะ

สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อม หรือรู้ชัดแจ้งตามความเป็นจริง รู้ตัวทั่วพร้อมในขณะที่กำลังทำ พูด คิด เข้าใจชัดเจน ในสิ่งที่สติระลึกได้ ว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี ผิดหรือถูก มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เป็นต้น เมื่อเรารู้ชัดว่าสิ่งที่เรากำลังทำ พูด คิด เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี เราก็จะสามารถทำสิ่งที่ถูกต้อง และยับยั้งการทำ พูด คิด ที่ผิดทำนองคลองธรรมเสียได้

ลักษณะของสัมปชัญญะ คือ ความไม่หลง หน้าที่ของสัมปชัญญะ คือ ความพิจารณาตัดสินสิ่งที่รู้นั้นว่าดีหรือชั่ว และกำจัดความโง่เขลา

สัมปชัญญะ มีลักษณะ 4 อย่าง คือ

  1. สาตถกสัมปชัญญะ ความรู้ชัดว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์
  2. สัปปายสัมปชัญญะ ความรู้ชัดว่าสิ่งนั้นๆ เหมาะสมเกื้อกูลหรือไม่เหมาะสมเกื้อกูล
  3. โคจรสัมปชัญญะ ความรู้ชัดถึงขอบเขตของสิ่งนั้น ๆ ว่าควรดำเนินหรือไม่ควรดำเนิน
  4. อสัมโมหสัมปชัญญะ ความรู้ชัดตามความเป็นจริง ไม่หลงงมงาย

สติ และ สัมปชัญญะ จัดเป็น พหุปการธรรม คือธรรมมีอุปการะมาก เพราะอุดหนุนเกื้อกูลกิจการงานทุกอย่างให้สำเร็จ ทั้งการประกอบสัมมาชีพ ทั้งการปฏิบัติธรรมเจริญกรรมฐาน ล้วนต้องการสติและสัมปชัญญะคอยกำกับ จึงจะไม่เกิดความผิดพลาด เมื่อหมั่นฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอย่อมจะก่อประโยชน์เป็นอันมาก ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการทำ พูด คิด หรือทำกิจใด ๆ ก็ตาม ช่วยสนับสนุนให้กิจสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรม