ปริเยสนา 2

ปริเยสนา แปลว่า การแสวงหา หมายถึง การแสวงหาของบุคคลทั่วไป การกระทำโดยประการต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เป็นคำกลาง ๆ ยังไม่ระบุว่าดีหรือไม่ดี มี 2 ประเภท คือ

  1. อริยปริเยสนา การแสวงหาอย่างประเสริฐ
  2. อนริยปริเยสนา การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

อริยปริเยสนา

อริยปริเยสนา แปลว่า การแสวงหาอย่างประเสริฐ หรือการแสวงหาของบุคคลผู้ประเสริฐ มีความหมายแบ่งเป็น 2 นัย คือ

นัยที่ 1 หมายถึง การแสวงหาในทางที่ถูกที่ควร เช่น การแสวงหาทรัพย์สินเงินทองหรือข้าวปลาอาหารด้วยการประกอบสัมมาชีพ ดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง

นัยที่ 2 หมายถึง การแสวงหาธรรมอันเกษมคือพระนิพพาน อันเป็นสภาพที่พ้นจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสทั้งปวง ได้แก่การบำเพ็ญสมณธรรม ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปดประการ เพื่อเป้าหมายคือการกระทำที่สุดแห่งทุกข์นั่นเอง

อนริยปริเยสนา

อนริยปริเยสนา แปลว่า การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ หรือการแสวงหาของบุคคลผู้ไม่ประเสริฐ มีความหมายเป็น 2 นัย คือ

นัยที่ 1 หมายถึง การแสวงหาในทางที่ผิดศีลธรรม เช่น การประกอบมิจฉาชีพ การแสวงหาทรัพย์สินเงินทองหรือข้าวปลาอาหารในทางที่ผิดศีลธรรม อันเป็นการก่อความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น การดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยสี่อันเป็นที่ต้องการ โดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

นัยที่ 2 หมายถึง การแสวงหาที่ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ซึ่งก็ได้แก่การแสวงหาทั้งหลายที่ชาวโลกเขาแสวงหากัน เช่น แสวงหาทรัพย์สินเงินทอง ไม่ว่าจะเป็นสัมมาชีพหรือมิจฉาชีพก็ตาม ถือว่าเป็นอนริยปริเยสนาทั้งสิ้น เพราะไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพานนั่นเอง

สรุปความว่า ปริเยสนาทั้ง 2 ประการนี้ หากมองในมุมของผู้ครองเรือน การแสวงหาในทางที่ถูกต้อง ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ผิดกฎหมายบ้ายเมือง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น จัดเป็นอริยปริเยสนา แต่การแสวงหาที่ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง ผิดจารีตประเพณี สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น จัดเป็นอนริยปริเยสนา

แต่ถ้ามองในแง่ของผู้ปฏิบัติเพื่อพ้นจากทุกข์ การแสวงหาที่เป็นไปเพื่อการพ้นทุกข์ หรือการแสวงหาที่เป็นไปเพื่อพระนิพพานเท่านั้นที่จัดเป็นอริยปริเยสนา ส่วนการแสวงหาอื่นทั้งปวง ทั้งดีและไม่ดี ที่ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน จัดเป็นอนริยปริเยสนา

เราจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกต้องตามหลักปริเยสนา ก็ต้องพิจารณาสถานะของเราเองว่า อยู่ในสถานะใด

ถ้าเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน ก็ให้ประกอบสัมมาชีพ หาเลี้ยงชีพโดยทางที่สุจริต ไม่กระทำผิดศีลธรรม ไม่กระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น ก็เป็นการเพียงพอแล้ว

แต่ถ้าเป็นบรรพชิต ก็ต้องสำรวมระวังให้มาก มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์เท่านั้น ส่วนการแสวงหาปัจจัยสี่ไม่ใช่สิ่งที่บรรพชิตควรดิ้นรนขวนขวายให้เกินตัว หากปฏิบัติตนเคร่งครัดตามพระธรรมวินัยแล้ว อนริยปริเยสนาย่อมไม่เกิด