ปฏิสันถาร 2

ปฏิสันถาร แปลว่า การต้อนรับ หมายถึง การต้อนรับแขกผู้มาเยือน การรับรองหรือการทักทายปราศรัยผู้มาเยือน เป็นสิ่งที่ผู้เป็นเจ้าบ้านพึงกระทำเมื่อมีแขกเหรื่อมาเยี่ยมเยียนถึงบ้าน วิธีที่ผู้เป็นเจ้าบ้านพึงต้อนรับแขกมี 2 ประการ คือ

  1. อามิสปฏิสันถาร การต้อนรับด้วยอามิส หรือ การต้อนรับด้วยวัตถุสิ่งของ
  2. ธัมมปฏิสันถาร การต้อนรับโดยธรรม หรือ การต้อนรับด้วยธรรม

อามิสปฏิสันถาร

อามิสปฏิสันถาร แปลว่า การต้อนรับด้วยอามิส หรือการต้อนรับด้วยวัตถุสิ่งของ หมายถึง การต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยสิ่งของ เช่น ต้อนรับด้วยน้ำดื่ม ต้อนรับด้วยข้าวปลาอาหาร หรือบางคราว เมื่อแขกจะจากไปก็ยังมีขนมนมเนยเป็นของฝากติดไม้ติดมือไปด้วย อย่างนี้เรียกว่า อามิสปฏิสันถาร

การเตรียมการต้อนรับที่ดีย่อมแสดงออกถึงความยินดีในการต้อนรับแขกนั้นด้วยมิตรไมตรี เช่น หากรู้ล่วงหน้าว่าจะมีแขกผู้ใดมาเยือน ผู้เป็นเจ้าบ้านอาจหาข้อมูลเกี่ยวกับแขกผู้นั้นก่อน เช่น เขาชอบทานอาหารประเภทใด อาหารประเภทใดที่เขาไม่สามารถทานได้ เป็นต้น แล้วจัดแจงเตรียมข้าวปลาอาหารหรือสิ่งของอื่นใดที่พอหาได้ซึ่งเป็นที่ชอบใจของแขกคนนั้นไว้ต้อนรับ เช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงออกถึงความเต็มใจในการต้อนรับ หรือยินดีต้อนรับอย่างแท้จริง ย่อมเป็นการผูกมิตรไว้ได้ด้วยดี

ธัมมปฏิสันถาร

ธัมมปฏิสันถาร แปลว่า การต้อนรับโดยธรรม หรือ การต้อนรับด้วยธรรม

การต้อนรับโดยธรรม หมายถึง การต้อนรับด้วยมิตรไมตรีที่ดีงาม ช่วยเหลือสงเคราะห์ บรรเทาความเดือดร้อนให้ ช่วยบรรเทาข้อสงสัยให้ เป็นต้น หรือการต้อนรับโดยวิธีที่ถูกต้องดีงาม ไม่ผิดขนบธรรมเนียม เต็มใจต้อนรับด้วยไมตรีจิต แสดงออกหรือปฏิบัติต่อแขกด้วยมิตรภาพที่ดีงาม

การต้อนรับด้วยธรรม หมายถึง การต้อนรับด้วยการให้ธรรมะ เช่น ชวนแขกสนทนาธรรม ช่วยบรรเทาอวิชชา ทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้มาเยือน ไม่ชวนแขกคุยนอกลู่นอกทาง สนทนาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่แขกผู้มาเยือนอย่างแท้จริง

ในฐานะเจ้าบ้าน พึงศึกษาและทำความเข้าใจหลักการต้อนรับแขกหรือหลักปฏิสันถารทั้ง 2 อย่างนี้ให้ดีและนำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ผู้เป็นเจ้าบ้านจะได้ใจแขก คือเป็นที่รักที่ชอบใจของแขกผู้มาเยือน ทำให้ผูกไมตรีไว้ได้ สร้างมิตรภาพที่ยืนยาว