ปัญหาและเฉลยวิชาวินัย  นักธรรมชั้นโท พ.ศ. 2548

ถาม ภิกษุผู้ละเมิดสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ต้องอาบัติอะไรได้บ้าง ?

ตอบ ต้องอาบัติถุลลัจจัย และ ทุกกฏ ฯ


ถาม พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุไว้ผมได้ยาวที่สุดเท่าไร ? ไว้ได้นานที่สุดเท่าไร ?

ตอบ ไม่เกิน 2 นิ้ว ฯ ไม่เกิน 2 เดือน ฯ


ถาม ภิกษุไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบสำรับ มีพระพุทธานุญาตไว้ในกรณีใดบ้าง ?

ตอบ ใน 2 กรณี คือ

  1. ในกรณีเข้าบ้านมีพระพุทธานุญาตไว้อย่างนี้ คือ
    • คราวเจ็บไข้
    • สังเกตเห็นว่าฝนจะตก
      ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ
    • วิหารคือกุฎีคุ้มได้ด้วยดาล
    • ได้รับอานิสงส์พรรษา
    • ได้กรานกฐิน ฯ
  2. ในกรณีต้องไปค้างแรมที่อื่น มีพระพุทธานุญาตไว้อย่างนี้ คือ
    • ได้รับอานิสงส์พรรษา
    • ได้กรานกฐิน ฯ

ถาม ในพระวินัยส่วนอภิสมาจาร มีพระพุทธบัญญัติสำหรับพระภิกษุผู้รับถือเสนาสนะของสงฆ์ ควรเอาใจใส่รักษาเสนาสนะด้วยอาการอย่างไรบ้าง ?

ตอบ ควรเอาใจใส่รักษาอย่างนี้ คือ

  1. อย่าทำเปรอะเปื้อน
  2. ชำระให้สะอาด
  3. ระวังไม่ให้ชำรุด
  4. รักษาเครื่องเสนาสนะ
  5. ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้มีพร้อม
  6. ของใช้สำหรับเสนาสนะหนึ่ง อย่าเอาไปใช้ในที่อื่นให้กระจัดกระจาย ฯ

ถาม วัตร 3 คืออะไรบ้าง ? ภิกษุเหยียบผ้าขาวอันเขาลาดไว้ในที่นิมนต์ผิดวัตรข้อไหน ? มีโทษให้เกิดความเสียหายอย่างไร ?

ตอบ คือ กิจวัตร 1 จริยาวัตร 1 วิธิวัตร 1 ฯ ผิดวัตรข้อจริยาวัตร ฯ มีโทษให้เกิดความเสียหาย คือเป็นการเสียมารยาทของพระ ไม่ระวังกิริยา ทำให้ผ้าขาวมีรอยเปื้อนสกปรกน่ารังเกียจ แม้ภิกษุพวกเดียวกันจะนั่งก็รังเกียจขยะแขยง เป็นที่ตำหนิของบัณฑิตทั้งหลาย ฯ


ถาม ภิกษุพบพระเถระในเวลาเข้าบ้านหรือเดินอยู่ตามทาง ควรปฏิบัติอย่างไร ?

ตอบ ไม่ควรไหว้ ควรหลีกทาง ลุกรับ และให้อาสนะแก่ท่าน ฯ


ถาม อเนสนา คืออะไร ? ภิกษุทำอเนสนา ต้องอาบัติอะไรได้บ้าง ?

ตอบ คือ กิริยาที่แสวงหาเลี้ยงชีพในทางไม่สมควร ฯ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ และ ทุกกฏ ฯ


ถาม ความรู้ในการทำเสน่ห์ให้ชายหญิงรักกัน จัดเป็นดิรัจฉานวิชาเพราะเหตุไร ?

ตอบ เพราะเป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับธรรมวินัยของภิกษุ และเป็นความรู้ที่ทำให้เขาสงสัยว่าลวง ทำให้เขาหลงงมงาย ไม่ใช่ความรู้จริง ผู้บอกเป็นผู้ลวง ฝ่ายผู้เรียนเป็นผู้หัดเพื่อลวง หรือเป็นผู้หลงงมงาย ฯ


ถาม สภาคาบัติ คืออาบัติเช่นไร ?

ตอบ คือ อาบัติที่ภิกษุต้องเหมือนกันเพราะล่วงละเมิดสิกขาบทเดียวกัน ฯ


ถาม การอธิษฐานเข้าพรรษา กับการปวารณาออกพรรษา ทั้ง 2 นี้ อย่างไหนกำหนดด้วยสงฆ์เท่าไร ? และกำหนดเขตอย่างไร ?

ตอบ การอธิษฐานเข้าพรรษาไม่เป็นสังฆกรรมจึงไม่กำหนดด้วยสงฆ์ แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอธิษฐานเข้าพรรษาพร้อมๆ กัน จะอธิษฐานที่ไหนก็ได้ แต่ท่านห้ามไม่ให้จำพรรษาในที่ไม่สมควรเท่านั้น เช่น ในโพรงไม้ บนค่าคบไม้ ในตุ่ม หรือในกระท่อมผี เป็นต้น ฯ และให้กำหนดบริเวณอาวาสเป็นเขต ฯ ส่วนการปวารณาออกพรรษาเป็นสังฆกรรม กำหนดด้วยสงฆ์ตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป ฯ และกำหนดให้ทำภายในเขตสีมา ถ้าต่ำกว่า 5 รูป ท่านให้ปวารณาเป็นการคณะ ถ้ารูปเดียวให้อธิษฐานเป็นการบุคคล ฯ