ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นโท พ.ศ. 2550

ถาม พระเสขะ ผู้ยังต้องศึกษา คือศึกษาอะไร ? ชื่อว่าพระอเสขะ เพราะอะไร ?

ตอบ ศึกษาสิกขา 3 คือ 1. อธิสีลสิกขา 2. อธิจิตตสิกขา 3. อธิปัญญาสิกขา ฯ เพราะเสร็จกิจอันจะต้องทำแล้ว ฯ


ถาม ความเห็นว่าเที่ยงและเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นอย่างไร ? มติในทางพระพุทธศาสนาเป็นเช่นไร จงอธิบาย ?

ตอบ

เห็นว่าเที่ยง คือเห็นว่า คนและสัตว์ตายแล้ว ชีวะไม่สูญ ต้องเกิดอีกต่อไป หรือเคยเป็นอะไร ก็เป็นอย่างนั้นตลอดไปหรือมีสภาพอย่างนั้นไม่แปรผัน เป็นต้น

ส่วนเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นว่า อัตภาพจุติแล้วเป็นอันสูญสิ้นไป หรือคนสัตว์ตายแล้วขาดสูญไปโดยประการทั้งปวง ฯ

พระพุทธศาสนาปฏิเสธความเห็นทั้ง 2 นั้น มีความเห็นประกอบด้วยสัมมาญาณ อิงเหตุผล ยึดเหตุผลเป็นที่ตั้ง โดยเห็นว่า คนและสัตว์ตายแล้วจะเกิดอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ฯ


ถาม ปาพจน์ 2 ได้แก่อะไรบ้าง ? ถ้าแจกเป็น 3 จะได้อะไรบ้าง ?

ตอบ ปาพจน์ 2 ได้แก่ พระธรรม และ พระวินัย ฯ ถ้าแจกเป็น 3 จะได้ พระวินัย 1 พระสูตร 1 พระอภิธรรม 1 ฯ


ถาม พระพุทธเจ้าทรงอุปมากิเลสเหล่าไหนว่ามีลักษณะเหมือนกับไฟ ? ที่ทรงอุปมาเช่นนั้นเพราะเหตุไร ?

ตอบ กิเลสเหล่านี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ฯ เพราะเมื่อกิเลสทั้ง 3 กองนี้ กองใดกองหนึ่งเกิดขึ้นภายในใจของบุคคล จะแผดเผาก่อให้เกิดความเร่าร้อนขึ้นภายในใจ ฯ


ถาม กรรมและทวาร คืออะไร ? อภิชฌาเป็นกรรมใดและเกิดทางทวารใดบ้าง จงอธิบาย ?

ตอบ

กรรม คือ การกระทำ ส่วนทวาร คือ ทางเกิดของกรรม ฯ

อภิชฌา ความอยากได้ เป็นมโนกรรมได้อย่างเดียว และเกิดได้ทั้ง 3 ทวาร เป็นกายทวาร เช่น มีความอยากได้แล้วลูบคลำพัสดุที่อยากได้นั้น แต่ไม่มีไถยจิต เป็นวจีทวาร เช่น มีความอยากได้แล้วบ่นว่า ทำอย่างไรดีหนอ จักได้พัสดุนั้น และเป็นมโนทวาร เช่น มีความอยากได้แล้วรำพึงในใจ ฯ


ถาม วิโมกข์ คืออะไร ? มีอะไรบ้าง ?

ตอบ คือ ความพ้นจากกิเลส ฯ มี สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ ฯ


ถาม พระอริยบุคคล 4 ได้แก่ใครบ้าง ? พระโสดาบันละสังโยชน์อะไรได้บ้าง ?

ตอบ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ฯ พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ฯ


ถาม โยนิ คืออะไร ? มีอะไรบ้าง ? เทวดา และสัตว์นรก จัดอยู่ในโยนิไหน ?

ตอบ โยนิ คือ กำเนิด ฯ มี

  • ชลาพุชะ เกิดในครรภ์
  • อัณฑชะ เกิดในไข่
  • สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล
  • โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น ฯ

เทวดา และสัตว์นรก จัดอยู่ใน โอปปาติกะ ฯ


ถาม เวทนา 3 และเวทนา 5 ได้แก่อะไรบ้าง ? จัดกลุ่มเทียบกันได้อย่างไร ?

ตอบ

เวทนา 3 ได้แก่ สุข ทุกข์ เฉย ๆ คือไม่สุขไม่ทุกข์

ส่วนเวทนา 5 ได้แก่ สุข โสมนัส ทุกข์ โทมนัส อุเบกขา ฯ

ในเวทนา 3 สุข คือ สุขกายและสุขใจ ซึ่งในเวทนา 5 สุขกายก็คือสุข และสุขใจก็คือโสมนัส

ในเวทนา 3 ทุกข์ คือ ทุกข์กายและทุกข์ใจ ซึ่งในเวทนา 5 ทุกข์กายก็คือทุกข์ และทุกข์ใจก็คือโทมนัส

ส่วนในเวทนา 3 เฉย ๆ คือไม่สุขไม่ทุกข์ ในเวทนา 5 ก็คืออุเบกขานั่นเอง ฯ


ถาม ในกรรม 12 อุปัตถัมภกกรรม กับ อุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ?

ตอบ อุปัตถัมภกกรรม ทำหน้าที่สนับสนุนผลแห่งชนกกรรมอุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่บีบคั้นผลแห่งชนกกรรม ฯ