ปัญหาและเฉลยวิชาวินัย  นักธรรมชั้นเอก พ.ศ. 2553

ถาม สังฆกรรม กับวินัยกรรม มีกำหนดบุคคลและสถานที่ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร ?

ตอบ ต่างกันดังนี้ สังฆกรรม ต้องประชุมสงฆ์ครบองค์ตามกำหนดแห่งกรรมนั้นๆ ต้องทำในสีมา เว้นไว้แต่อปโลกนกรรม ทำนอกสีมาก็ได้ ส่วนวินัยกรรม ไม่ต้องประชุมสงฆ์ และทำนอกสีมาก็ได้ ฯ


ถาม นิมิตที่อยู่รอบโรงอุโบสถ มีไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? จงเขียนคำทักนิมิตในทิศตะวันตกเฉียงใต้มาดู ?

ตอบ มีไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายกำหนดเขตการทำสังฆกรรม ฯ คำทักนิมิตในทิศตะวันตกเฉียงใต้ ว่าดับงนี้ ทกฺขิณาย อนุทิสาย กึ นิมิตฺตํ ฯ


ถาม จงอธิบายความหมายของวิสุงคามสีมา และสัตตัพภันตรสีมา

ตอบ วิสุงคามสีมา หมายถึงเขตแห่งสามัคคีที่สงฆ์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกให้เป็นแผนกหนึ่งจากบ้าน ฯ สัตตัพภันตรสีมา หมายถึงเขตแห่งสามัคคีในป่าหาคนตั้งบ้านเรือนไม่ได้ชั่ว 7 อัพภันดร โดยรอบ นับแต่ที่สุดแห่งสงฆ์ออกไป ฯ


ถาม กฐิน เป็นสังฆกรรมอะไร ? การรับกฐิน ตลอดจนถึงการกราน ต้องทำในสีมาเท่านั้น หรือทำนอกสีมาก็ได้ ?

ตอบ เป็นญัตติทุติยกรรม ฯ การรับกฐิน การอปโลกน์เพื่อให้ผ้ากฐิน และการกรานกฐิน ทำในสีมาหรือนอกสีมาก็ได้ การสวดญัตติทุติยกรรมวาจาให้ผ้ากฐิน ต้องทำในสีมาเท่านั้น ฯ


ถาม บุรพกิจที่พึงทำเป็นเบื้องต้นก่อนแต่อุปสมบท คืออะไรบ้าง ? ในกิจเหล่านั้น กิจที่ต้องทำเป็นการสงฆ์ มีอะไรบ้าง ?

ตอบ

บุรพกิจที่พึงทำเป็นเบื้องต้นก่อนแต่อุปสมบท คือ ให้บรรพชา ขอนิสสัย ถืออุปัชฌายะ ขนานชื่อมคธแห่งอุปสัมปทาเปกขะ และบอกนามอุปัชฌายะ บอกบาตรจีวร สั่งให้อุปสัมปทาเปกขะออกไปยืนข้างนอก สมมติภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ซักซ้อมอุปสัมปทาเปกขะถึงอันตรายิกธรรม เรียกอุปสัมปทาเปกขะเข้าในสงฆ์ ให้ขออุปสมบท สมมติภิกษุรูปหนึ่งสอบถามอุปสัมปทาเปกขะถึงอันตรายิกธรรมในสงฆ์ ฯ

กิจที่ต้องทำเป็นการสงฆ์ มี สมมติภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ซักซ้อมอุปสัมปทาเปกขะถึงอันตรายิกธรรม เรียกอุปสัมปทาเปกขะเข้าในสงฆ์ สมมติภิกษุรูปหนึ่งสอบถามอุปสัมปทาเปกขะถึงอันตรายิกธรรมในสงฆ์ ฯ


ถาม อุปสัมปทาเปกขะจะสำเร็จเป็นพระภิกษุได้ เมื่อพระกรรมวาจาจารย์สวดถึงบาลีบทใด ?

ตอบ ถึงบทว่า โส ภาเสยฺย ท้ายอนุสาวนาที่ 3 ฯ


ถาม ติณวัตถารกวินัยมีอธิบายอย่างไร ? ใช้ระงับอธิกรณ์อะไร ?

ตอบ ติณวัตถารกวินัยมีอธิบายว่า กิริยาที่ให้ประนีประนอมกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ต้องชำระสะสางหาความเดิม เป็นดังกลบไว้ด้วยหญ้า ฯ ใช้ระงับอาปัตตาธิกรณ์ที่ยุ่งยากยืดเยื้อไม่รู้จบและเป็นเรื่องสำคัญอันจะเป็นเครื่องกระเทือนทั่วไป เว้นครุกาบัติและอาบัติที่เนื่องด้วยคฤหัสถ์ ฯ


ถาม ลิงคนาสนา คืออะไร ? บุคคลที่ทรงพระอนุญาตให้ทำลิงคนาสนามีกี่ประเภท ? ใครบ้าง ?

ตอบ

ลิงคนาสนา คือ การให้ฉิบหายเสียจากเพศ ฯ

บุคคลที่ทรงพระอนุญาตให้ทำลิงคนาสนามี 3 ประเภท คือ

  • ภิกษุต้องอันติมวัตถุแล้ว ยังปฏิญญาตนเป็นภิกษุ 1
  • บุคคลผู้อุปสมบทไม่ขึ้น ได้รับอุปสมบทแต่สงฆ์ 1
  • สามเณรผู้ประกอบด้วยองค์ 10 มีเป็นผู้มักผลาญชีวิตเป็นต้น 1

ถาม ศาสนสมบัติมีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ? การจะนำผลประโยชน์จากศาสนสมบัติไปใช้จ่าย มีหลักเกณฑ์อย่างไร ?

ตอบ

ศาสนสมบัติมี 2 ประเภท คือ ศาสนสมบัติกลาง และ ศาสนสมบัติวัด ฯ

การจะนำผลประโยชน์จากศาสนสมบัติไปใช้จ่าย มีหลักเกณฑ์อย่างนี้ คือ

  • ศาสนสมบัติกลาง ใช้จ่ายในกิจการของสงฆ์ทั่วไป ตามพระวินัยโดยอนุมัติของสงฆ์
  • ศาสนสมบัติวัด ใช้จ่ายในกิจการของวัดนั้น ๆ แต่จะนำศาสนสมบัติของวัดหนึ่งไปใช้อีกวัดหนึ่งไม่ได้

ถาม ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง จะสามารถโอนกรรมสิทธ์ได้หรือไม่ ? มีหลักปฏิบัติอย่างไร ?

ตอบ สามารถโอนได้ ฯ มีหลักปฏิบัติตามความในมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 (มาตรา 34 การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสอง