ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. 2550

ถาม พระศาสดาทรงบัญญัติพระวินัยไว้เพื่ออะไร ?

ตอบ เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายของภิกษุสงฆ์ และเพื่อชักนำความประพฤติของภิกษุสงฆ์ให้ดีงาม ฯ


ถาม สิกขาบทที่มีมาในพระปาติโมกข์ มีเท่าไร ? ว่าโดยหมวดมีอะไรบ้าง ?

ตอบ มี 227 สิกขาบท ฯ มี ปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92 ปาฏิเทสนียะ 4 เสขิยะ 75 อธิกรณสมถะ 7 ฯ


ถาม อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติ มีเท่าไร ? ต้องด้วยไม่ละอาย มีอธิบายอย่างไร ?

ตอบ มี 6 อย่าง ฯ ภิกษุรู้อยู่แล้ว และละเมิดพระบัญญัติด้วยใจด้านไม่รู้จักละอาย ชื่อว่าต้องด้วยไม่ละอาย ฯ


ถาม เมื่อภิกษุต้องอาบัติแล้ว จะพึงปฏิบัติอย่างไร ?

ตอบ พึงบอกภิกษุด้วยกันในวันนั้น และพึงแก้ไขตามวิธีนั้น ๆ ฯ


ถาม สังหาริมทรัพย์ และ อสังหาริมทรัพย์คือทรัพย์เช่นไร ? ภิกษุจะต้องอาบัติถึงที่สุดในเพราะลักทรัพย์ทั้ง 2 อย่างนั้นเมื่อใด ?

ตอบ

สังหาริมทรัพย์ คือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ อสังหาริมทรัพย์ คือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ฯ

สำหรับสังหาริมทรัพย์ ภิกษุจะต้องอาบัติถึงที่สุด ในเมื่อทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนจากที่เดิม ส่วนอสังหาริมทรัพย์ จะต้องอาบัติถึงที่สุด ในเมื่อเจ้าของทอดกรรมสิทธิ์ ฯ


ถาม ภิกษุรู้ตัวว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส จึงแสดงอาบัตินั้นต่อภิกษุอีกรูปหนึ่ง อย่างนี้จะพ้นจากอาบัตินั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุไร ?

ตอบ พ้นไม่ได้ เพราะอาบัติสังฆาทิเสสนั้น ภิกษุผู้ต้องจะพ้นได้ด้วยอยู่กรรม ฯ


ถาม ที่ลับตา กับที่ลับหู ต่างกันอย่างไร ? ที่ลับทั้ง 2 นั้น เป็นทางให้ปรับอาบัติได้มากน้อยกว่ากันอย่างไร ?

ตอบ ต่างกันอย่างนี้

ที่ที่มีสิ่งกำบัง เห็นกันไม่ได้ เรียกว่า ที่ลับตา ที่ที่ไม่มีสิ่งกำบัง เห็นกันได้ แต่ฟังเสียงพูดกันไม่ได้ยิน เรียกว่า ที่ลับหู

ที่ลับตา เป็นทางให้ปรับอาบัติได้มากกว่า คือตั้งแต่ปาราชิก สังฆาทิเสส ถึง ปาจิตตีย์ ส่วนที่ลับหู เป็นทางให้ปรับอาบัติตั้งแต่สังฆาทิเสสลงมา ฯ


ถาม ภิกษุรับนิมนต์แล้ว จะไปที่อื่นก่อนหรือหลังฉัน ต้องปฏิบัติอย่างไร ? ถ้าไม่ทำเช่นนั้น ต้องอาบัติอะไร ?

ตอบ ต้องปฏิบัติอย่างนี้ คือ ต้องบอกลาภิกษุอื่นก่อน ฯ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ฯ


ถาม ผ้าอาบน้ำฝนมีกำหนดขนาดไว้เท่าใด ? ถ้าทำเกินกว่าขนาดนั้นต้องอาบัติ ก่อนจะแสดงอาบัตินั้น ต้องทำอย่างไร ?

ตอบ ยาว 6 คืบ กว้าง 2 คืบครึ่ง โดยคืบพระสุคต ฯ ต้องตัดให้ได้ขนาดเสียก่อน ฯ


ถาม หมวดสารูปในเสขิยวัตร ว่าด้วยเรื่องอะไร ? ข้อว่า “ไม่เอามือค้ำกายนั่งในบ้าน” คือไม่ทำอย่างไร ?

ตอบ ว่าด้วยธรรมเนียมควรประพฤติในเวลาเข้าบ้าน ฯ คือ ไม่นั่งเท้าแขนข้างเดียวก็ตาม สองข้างก็ตามในบ้าน ฯ