ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นโท พ.ศ. 2549

ถาม มูลกัมมัฏฐาน คืออะไร ? เจริญอย่างไรเป็นอารมณ์ของสมถะ ? เจริญอย่างไรเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ?

ตอบ

มูลกัมมัฏฐาน คือ กัมมัฏฐานเดิม ได้แก่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ที่พระอุปัชฌาย์สอนก่อนบรรพชา ฯ

ถ้าเพ่งกำหนดให้จิตสงบด้วยภาวนา จัดเป็นอารมณ์ของสมถะ ถ้ายกขึ้นพิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ ให้เห็นตามความเป็นจริงโดยสามัญลักษณะ จัดเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ฯ


ถาม ปฏิสันถาร คืออะไร ? จงแสดงวิธีปฏิสันถารตามความรู้ที่ได้ศึกษามา ?

ตอบ

ปฏิสันถาร คือ การต้อนรับผู้มาเยือนด้วยการพูดจาปราศรัย หรือด้วยการรับรองด้วยของ ต้อนรับตามสมควรด้วยไมตรีจิต ฯ

ปฏิสันถารที่ได้ศึกษามามี 2 อย่าง คือ

  1. อามิสปฏิสันถาร ปฏิสันถารด้วยสิ่งของ ได้แก่การจัดหาวัตถุสิ่งของต้อนรับ เช่น ข้าว น้ำ หรือที่พัก เป็นต้น
  2. ธัมมปฏิสันถาร ปฏิสันถารด้วยธรรม ได้แก่การแสดงการต้อนรับตามความเหมาะสมแก่ผู้มาเยือน หรือการให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น ฯ

ถาม อกุศลวิตก 3 มีโทษอย่างไร ? แก้ด้วยวิธีอย่างไร ?

ตอบ

  • กามวิตก ทำใจให้เศร้าหมอง เป็นเหตุให้มัวเมาติดอยู่ในกามสมบัติ
  • พยาบาทวิตก ทำให้เดือดร้อนกระวนกระวายใจ คิดทำร้ายผู้อื่น
  • วิหิงสาวิตก ย่อมครอบงำจิต ให้คิดเบียดเบียนผู้อื่นโดยเห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนตัว ฯ

แก้อย่างนี้

  • กามวิตก แก้ด้วยการเจริญกายคตาสติและอสุภกัมมัฏฐาน
  • พยาบาทวิตก แก้ด้วยการเจริญเมตตาพรหมวิหาร
  • วิหิงสาวิตก แก้ด้วยการเจริญกรุณาพรหมวิหารและโยนิโสมนสิการ ฯ

ถาม พรหมวิหารกับอัปปมัญญา ต่างกันอย่างไร ? อย่างไหนเป็นปฏิปทาโดยตรงของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ?

ตอบ ต่างกันโดยวิธีแผ่ คือ แผ่โดยเจาะจงตัวก็ดี โดยไม่เจาะจงตัวก็ดี แต่ยังจำกัดหมู่นั้นหมู่นี้จัดเป็นพรหมวิหาร ถ้าแผ่โดยไม่เจาะจงไม่จำกัด จัดเป็นอัปปมัญญา ฯ อัปปมัญญาเป็นปฏิปทาของภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ฯ


ถาม ทักขิณา คืออะไร ? ทักขิณานั้น จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ มีอะไรเป็นเครื่องหมาย ?

ตอบ ทักขิณา คือ ของทำบุญ ฯ มีกัลยาณธรรมของทายก หรือปฏิคาหกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า บริสุทธิ์ และมีความเป็นผู้ทุศีลและอธรรม ของทายกหรือปฏิคาหกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า ไม่บริสุทธิ์ ฯ


ถาม มาร คืออะไร ? เฉพาะอภิสังขารมาร หมายถึงอะไร ?

ตอบ มาร คือ สิ่งที่ล้างผลาญทำลายความดี ชักนำให้ทำบาปกรรม ปิดกั้นไม่ให้ทำความดี จนถึงปิดกั้นไม่ให้เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ฯ อภิสังขารมาร หมายถึง อกุศลกรรม ฯ


ถาม พระธรรมคุณบทใด มีความหมายตรงกับคำว่า “ท้าให้มาพิสูจน์ได้” ? พระธรรมคุณบทนั้น มีอธิบายว่าอย่างไร ?

ตอบ บทว่า เอหิปัสสิโก ฯ มีอธิบายว่า พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถที่จะให้พิสูจน์ได้ทุกเวลาและสามารถนำไปประพฤติในชีวิตประจำวันเพื่อประโยชน์สุขได้ ฯ


ถาม บารมี คืออะไร ? อธิษฐานบารมี คือการทำอย่างไร ?

ตอบ ปฏิปทาอันยิ่งยวด หรือคุณธรรมที่ประพฤติอย่างยิ่งยวด ได้แก่ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ฯ คือความตั้งใจมั่นตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอนและดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่ ฯ


ถาม คำต่อไปนี้มีความหมายอย่างไร ?

  1. ชนกกรรม
  2. อุปัตถัมภกกรรม
  3. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม
  4. อุปปัชชเวทนียกรรม
  5. กตัตตากรรม

ตอบ

  1. ชนกกรรม คือ กรรมแต่งให้เกิด
  2. อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมสนับสนุน
  3. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในภพนี้
  4. อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในภพหน้า
  5. กตัตตากรรม คือ กรรมสักว่าทำ คือกรรมที่ทำด้วยไม่จงใจ ฯ

ถาม ธุดงค์ ท่านบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? อารัญญิกังคธุดงค์ คือการถือปฏิบัติอย่างไร ?

ตอบ

ธุดงค์ ท่านบัญญัติไว้เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ

อารัญญิกังคธุดงค์ คือ การถืออยู่ป่าเป็นวัตร หมายถึงการพักอาศัยปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า หรือบริเวณป่าและจะต้องห่างจากบ้านคนอย่างน้อย 25 เส้น หรือ 500 ชั่วธนู ฯ