ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นโท พ.ศ. 2546

ถาม อนุพุทธองค์แรกสำเร็จเป็นพระภิกษุด้วยพระพุทธดำรัสว่าอย่างไร ?

ตอบ ด้วยพระพุทธดำรัสว่า “ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด ” ฯ

ถาม อนุพุทธองค์นั้นได้เป็นพระโสดาบันและได้เป็นพระอรหันต์ เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาอะไร ?

ตอบ ได้เป็นพระโสดาบัน เพราะได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และได้เป็นพระอรหันต์ เพราะได้ฟังอนัตตลักขณสูตร ฯ


ถาม อนุปุพพีกถา คืออะไร ? ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระพุทธประสงค์อย่างไร ?

ตอบ คือ ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ ฯ ด้วยพระพุทธประสงค์เพื่อฟอกจิตกุลบุตรให้ห่างไกลจากความยินดีในกาม ควรรับพระธรรมเทศนาให้เกิดธรรมจักษุ เหมือนผ้าที่ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้ ฉะนั้น ฯ

ถาม พระสาวกผู้ได้ฟัง อนุปุพพีกถา ครั้งแรกคือใคร ? ณ ที่ไหน ?

ตอบ คือ ยสกุลบุตร ฯ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯ


ถาม ชฎิล 3 พี่น้อง ชื่ออะไรบ้าง ? ใครได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีบริวารมาก ?

ตอบ ชื่อ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ ฯ อุรุเวลกัสสปะได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีบริวารมาก ฯ

ถาม ท่านเหล่านั้นพร้อมบริวารได้บรรลุอรหัต เพราะฟังพระธรรมเทศนาอะไร ? ใจความย่อว่าอย่างไร ?

ตอบ เพราะฟังอาทิตตปริยายสูตร ฯ ใจความย่อว่า อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ สัมผัส และเวทนาที่เกิดแต่สัมผัส เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟคือความกำหนัด ความโกรธ ความหลง และร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศกร่ำไรรำพัน เจ็บกาย เสียใจ คับใจ


ถาม จงตอบคำถามเกี่ยวกับพระอนุรุทธเถระ ดังต่อไปนี้

  1. ท่านเป็นโอรสของใคร ?
  2. เกี่ยวเนื่องกับพระบรมศาสดาอย่างไร ?
  3. ท่านออกบวชพร้อมกับใครบ้าง ?
  4. ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาอย่างไร ?

ตอบ

  1. ท่านเป็นโอรสของพระเจ้าศากยะพระนามว่า อมิโตทนะ พระมารดาไม่ปรากฏพระนาม ฯ
  2. เป็นพระโอรสของพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา จึงนับเป็นพระอนุชาของพระบรมศาสดา ฯ
  3. นออกบวชพร้อมกับพระอุบาลี พระภัททิยะ พระภคุ พระกิมพิละ พระอานนท์ และพระเทวทัต ฯ
  4. ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นผู้เลิศในทางมีจักษุทิพย์ ฯ

ถาม พระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตผลช้ากว่าบริวาร เพราะเหตุไร ?

ตอบ เพราะท่านเป็นผู้มีปัญญามาก ต้องใช้บริกรรมใหญ่ ซึ่งเปรียบด้วยการเสด็จไปข้างไหน ๆ แห่งพระราชา ต้องตระเตรียมราชพาหนะและราชบริพารที่จำเป็น จึงช้ากว่าการไปของคนสามัญ ฯ

ถาม พระโมคคัลลานะ นิพพานที่ไหน ? อัฐิธาตุของท่านบรรจุไว้ที่ไหน ?

ตอบ นิพพานที่ตำบลกาฬสิลา แขวงมคธ ฯ อัฐิธาตุของท่านบรรจุไว้ที่เจดีย์ใกล้ซุ้มประตูแห่งเวฬุวนาราม ฯ


ถาม การศึกษาเป็นการพัฒนาชีวิตและสังคมให้ก้าวหน้าและก้าวไกล จึงอยากทราบว่า

  1. พระเถระองค์ใด ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษา ?
  2. ท่านได้รับการยกย่องเช่นนั้น เพราะมีปฏิปทาอย่างไร ?

ตอบ

  1. พระราหุลเถระ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาฯ
  2. เพราะท่านมีปฏิปทาอย่างนี้คือ ท่านตื่นขึ้นแต่เช้าแล้วกอบเอาทรายมาเต็มกำมือแล้วปรารถนาว่า ขอให้เราได้รับโอวาทคำสั่งสอนแต่สำนักพระทศพลและพระอุปัชฌาย์อาจารย์เท่าเม็ดทรายในกำมือเถิด แล้วตั้งใจศึกษา ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยปฏิปทาเช่นนี้แล จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษา ฯ

ถาม พระอานนท์ได้บรรลุโสดาปัตติผลเพราะได้ฟังโอวาทจากใคร ? และได้บรรลุอรหัตผลเมื่อไร ?

ตอบ จากพระปุณณมันตานีบุตร ฯ บรรลุอรหัตผลก่อนวันรุ่งขึ้นจะทำปฐมสังคายนา ฯ

ถาม ท่านบรรลุอรหัตผลและนิพพาน ต่างจากพระสาวกองค์อื่นอย่างไร ?

ตอบ การบรรลุอรหัตผลของท่านไม่ปรากฏว่าได้ในขณะยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอน ปรากฏว่าท่านได้ในระหว่างอิริยาบถ 4 ท่านนิพพานบนอากาศ กลางแม่น้ำโรหิณีแล้วอธิษฐานให้สรีระของท่านแยกเป็น 2 ภาค ให้ตกลงที่ฝั่งแม่น้ำฝั่งละภาค ฯ


ศาสนพิธี

ถาม ศาสนพิธีเล่ม 2 แสดงอุโบสถกรรมไว้กี่ประเภท ? อะไรบ้าง ?

ตอบ แสดงไว้ 3 ประเภทคือ สังฆอุโบสถ 1 ปาริสุทธิอุโบสถ 1 อธิษฐานอุโบสถ 1 ฯ

ถาม แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร ?

ตอบ มีความแตกต่างกันดังนี้

  1. สังฆอุโบสถ คือ อุโบสถกรรมที่พระภิกษุตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ประชุมสวดพระปาฏิโมกข์
  2. ปาริสุทธิอุโบสถ คือ อุโบสถกรรมที่พระภิกษุน้อยกว่า 4 รูป มีเพียง 3 รูป หรือ 2 รูป ร่วมกันทำเป็นการคณะ ให้แต่ละรูปบอกความบริสุทธิ์ของตน ๆ
  3. อธิษฐานอุโบสถ คือ อุโบสถกรรมที่พระภิกษุรูปเดียวทำเป็นการบุคคล ด้วยการอธิษฐานความบริสุทธิ์ใจของตนเอง ฯ

ถาม จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้

  1. การเข้าพรรษา
  2. การออกพรรษา

ตอบ

  1. การเข้าพรรษา หมายถึง การที่ภิกษุผูกใจว่า จะอยู่ประจำเสนาสนะในวัดใดวัดหนึ่งตลอดเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ไม่ไปค้างแรมให้ล่วงราตรีในที่แห่งอื่น ระหว่างผูกใจนั้น เว้นแต่ไปด้วยสัตตาหกรณียะ ฯ
  2. การออกพรรษา หมายถึง กาลที่สิ้นสุดกำหนดอยู่จำพรรษาของภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ มีพิธีเป็นสังฆกรรมพิเศษโดยเฉพาะ เรียกโดยภาษาพระวินัยว่า ปวารณากรรม คือการทำปวารณาของสงฆ์ผู้อยู่ร่วมกันตลอดเวลา 3 เดือน ฯ

ถาม สามีจิกรรม หมายถึงอะไร ? มีเท่าไร ? อะไรบ้าง ?

ตอบ หมายถึง การขอขมาโทษกันให้อภัยกัน ทุกโอกาสไม่ว่าจะมีโทษขัดข้องหมองใจกันหรือไม่ก็ตาม ถึงโอกาสที่ควรทำสามีจิกรรมกันแล้ว ทุกรูปไม่พึงละโอกาสเสีย ฯ มี 2 แบบ คือ

  1. แบบขอขมาโทษ
  2. แบบถวายสักการะ ฯ

ถาม การเทศน์ในปัจจุบันนิยมทำกันกี่ลักษณะ ? อะไรบ้าง ?

ตอบ นิยมทำกัน 4 ลักษณะ คือ

  1. เทศน์ในงานทำบุญ
  2. เทศน์ตามกาลนิยม
  3. เทศน์พิเศษ
  4. เทศน์มหาชาติ ฯ