ปัญหาและเฉลยวิชาพุทธานุพุทธประวัติ  นักธรรมชั้นเอก พ.ศ. 2559

ถาม พุทธานุพุทธประวัติ ให้ความรู้แก่ผู้ศึกษาทางใดบ้าง ? จงอธิบายพอได้ใจความ

ตอบ พุทธานุพุทธประวัติ ให้ความรู้แก่ผู้ศึกษา ดังนี้

  1. ทางประวัติศาสตร์ เช่นความเป็นไปของบ้านเมืองในครั้งพุทธกาล และลัทธิธรรมเนียมของประชาชนในสมัยนั้น
  2. ทางจรรยาของพระพุทธเจ้า และจรรยาของเหล่าพระอริยสาวก
  3. ทางธรรมวินัยที่ปรากฏในตำนานและความเป็นมาแห่งศาสนธรรม พร้อมทั้งตัวอย่างการบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง

ถาม การที่พระพุทธองค์ทรงเลิกการทรมานพระวรกายแล้วกลับมาเสวยพระกระยาหาร เพราะทรงพิจารณาเห็นอย่างไร ?

ตอบ เพราะทรงพิจารณาเห็นว่า คนที่ไม่บริโภคอาหารจนร่างกายหมดกำลัง ไม่สามารถบำเพ็ญเพียรทางจิตได้ ฯ


ถาม อาสยะ และ ปโยคะ ในสัตตูปการสัมปทา หมายถึงอะไร ?

ตอบ

  • อาสยะ หมายถึง ความมีพระหฤทัยเยือกเย็นด้วยความกรุณา ปรารถนาคุณประโยชน์อยู่เป็นนิตย์ แม้ในบุคคลที่ทำผิดต่อพระองค์ มีพระเทวทัตเป็นต้น ก็ยังทรงกรุณา
  • ปโยคะ หมายถึง ความมีพระหฤทัยมิได้มุ่งหวังต่ออามิส เทศนาสั่งสอนสัตว์ด้วยข้อปฏิบัติคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯ

ถาม ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี เกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะความว่าอย่างไร ? ในขณะนั้น ท่านเป็นพระอริยบุคคลชั้นไหน ?

ตอบ ความว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ฯ ในขณะนั้น ท่านเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน ฯ


ถาม พระศาสดาทรงแสดงอนุปุพพีกถา และอริยสัจ 4 ตามลำดับ แก่บุคคลผู้มีคุณสมบัติเช่นไร ?

ตอบ แก่ผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ

  1. เป็นมนุษย์
  2. เป็นคฤหัสถ์
  3. มีอุปนิสัยแก่กล้า ควรบรรลุโลกุตรคุณ

ถาม “สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด” เป็นคำพูดของใคร ? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่าอย่างไร ?

ตอบ เป็นคำพูดของทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตร ฯ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้นก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็น
อย่างนั้น ฯ


ถาม พระพุทธโอวาท 3 ข้อ ที่ทรงประทานแก่พระมหากัสสปะว่าอย่างไร ? จัดเข้าในการอุปสมบทวิธีใด ?

ตอบ พระโอวาท 3 ข้อว่าดังนี้

  1. กัสสปะ ท่านพึงศึกษาว่าเราจักเข้าไปตั้งความละอายและความยำเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นปานกลาง อย่างแรงกล้า
  2. เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยโสตฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความ
  3. เราจักไม่ละสติเป็นไปในกาย คือพิจารณากายเป็นอารมณ์ ฯ

จัดเข้าในเอหิภิกขุอุปสมบทวิธี ฯ


ถาม พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระราธะว่า “สิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้นเสีย” มารในที่นี้หมายถึงอะไร ?

ตอบ หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯ


ถาม อายุสังขาราธิษฐานกับการปลงอายุสังขาร หมายถึงอะไร ? พระพุทธเจ้าทรงกระทำที่ไหน ?

ตอบ

อายุสังขาราธิษฐาน หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระหฤทัยว่า จักดำรงพระชนม์อยู่แสดงธรรมสั่งสอนมหาชน จนกว่าพุทธบริษัทจะตั้งมั่น และได้ประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายมั่นคง สำเร็จประโยชน์แก่มหาชน

การปลงอายุสังขาร หมายถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดวันปรินิพพาน นับแต่วันเพ็ญเดือน 3 ไปอีก 3 เดือน ฯ

อายุสังขาราธิษฐานทรงกระทำที่อชปาลนิโครธ ใกล้สถานที่ตรัสรู้

การปลงอายุสังขารทรงกระทำที่ปาวาลเจดีย์ เมืองไพศาลี ฯ


ถาม การทำสังคายนาครั้งแรก เกิดขึ้นหลังจากปรินิพพานล่วงแล้วกี่เดือน ? ใช้เวลาเท่าไร ? ใครทำหน้าที่ปุจฉาและวิสัชนา ?

ตอบ การทำสังคายนาครั้งแรก เกิดขึ้นหลังจากปรินิพพานล่วงแล้ว 3 เดือน ฯ ใช้เวลา 7 เดือน ฯ พระมหากัสสปะทำหน้าที่ปุจฉา พระอุบาลีทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ทำหน้าที่วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม ฯ