สุทธิ 2

สุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์ ความสะอาดหมดจด หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งใจ ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติเพื่อชำระกิเลสเครื่องเศร้าหมองออกจากจิตใจ แบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะแห่งความบริสุทธิ์ คือ

  1. ปริยายสุทธิ ความบริสุทธิ์บางส่วน
  2. นิปปริยายสุทธิ ความบริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง

ปริยายสุทธิ

ปริยายสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์บางส่วน ความบริสุทธิ์ในบางแง่บางด้าน หมายถึง ความบริสุทธิ์ที่เกิดจากการละกิเลสสังโยชน์ได้บางส่วน คือกิเลสบางตัวถูกทำลายไปแล้ว แต่กิเลสบางตัวยังคงเหลืออยู่ หมายเอาความบริสุทธิ์ของพระอริยบุคคล 3 ประเภทแรก ได้แก่

  1. พระโสดาบัน ละสังโยชน์เบื้องต้นได้ 3 ประการ คือ
    • สักกายทิฏฐิ ความเห็นอันเป็นเหตุถือตัวถือตน
    • วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
    • สีลัพพตปรามาส การถือศีลและวัตรแบบงมงาย
  2. พระสกทาคามี ละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 3 ประการและสามารถบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลงด้วย
  3. พระอนาคามี ละสังโยชน์ได้เพิ่มเติมอีก 2 ประการ คือ
    • กามราคะ ความพอใจรักใคร่ในกามคุณ
    • ปฏิฆะ ความขัดเคืองใจ

เพราะพระอริยบุคคล 3 ประเภทแรกนี้ ละกิเลสได้บางส่วนตามระดับภูมิของตน ยังเหลือกิเลสบางส่วนที่ยังไม่สามารถทำลายได้ในชั้นภูมิของตน ยังต้องเพียรพยายามเพื่อทำลายกิเลสส่วนที่เหลือให้หมดต่อไป ดังนั้น พระอริยบุคคล 3 ประเภทแรกนี้จึงเป็นผู้บริสุทธิ์บางส่วน

สรุปการละสังโยชน์เบื้องต่ำของพระอริยบุคคล 3 ประเภทแรกได้ดังนี้

  • พระโสดาบัน ละสังโยชน์ได้ 3 ยังเหลือ 7
  • พระสกทาคามี ละสังโยชน์ได้ 3 ยังเหลือ 7
  • พระอนาคามี ละสังโยชน์ได้ 5 ยังเหลือ 5

นิปปริยายสุทธิ

นิปปริยายสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง บริสุทธิ์หมดจดอย่างแท้จริง หมายถึง ความบริสุทธิ์ที่เกิดจากการละกิเลสได้ทั้งหมดโดยไม่หลงเหลืออยู่อีกเลยแม้แต่นิดเดียว หมายเอาความบริสุทธิ์ของพระอริยบุคคลประเภทที่ 4 คือ พระอรหันต์

เพราะพระอรหันต์สามารถละกิเลสสังโยชน์ได้หมดจดทุกประการ ไม่มีกิเลสตัวใดหลงเหลืออยู่ในขันธสันดานอีกต่อไป จึงถือว่าหมดกิจหมดภาระในการที่จะต้องเพียรพยายามเพื่อละกิเลสแล้ว พระอรหันต์จึงได้ชื่อว่าผู้บริสุทธิ์หมดจดอย่างสิ้นเชิง

สังโยชน์เบื้องสูง 5 ประการที่พระอรหันต์สามารถละได้เพิ่มเติม คือ

  • รูปราคะ ความกำหนัดในรูปภพ
  • อรูปราคะ ความกำหนัดในอรูปภพ
  • มานะ ความถือตัว
  • อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
  • อวิชชา ความไม่รู้