ปัญหาและเฉลยวิชาวินัย  นักธรรมชั้นเอก พ.ศ. 2559

ถาม มูลเหตุที่ทำให้เกิดสังฆกรรมมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

ตอบ มูลเหตุที่ทำให้เกิดสังฆกรรมมี 2 อย่าง คือ

  1. มีภิกษุบริษัทเพิ่มจำนวนมากขึ้น
  2. มีพระพุทธประสงค์เพื่อให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการบริหารหมู่คณะ

ถาม ญัตติและอนุสาวนา หมายถึงอะไร ? อนุสาวนามีใช้ในสังฆกรรมอะไรบ้าง ?

ตอบ ญัตติ หมายถึง คำเผดียงสงฆ์ อนุสาวนา หมายถึง คำประกาศคำปรึกษาและข้อตกลงของสงฆ์ ฯ

อนุสาวนามีใช้ใน 2 สังฆกรรม คือ

  1. ญัตติทุติยกรรม
  2. ญัตติจตุตถกรรม

ถาม การทักนิมิตในทิศทั้ง 8 นั้น ทักทิศละหนถูกต้องหรือไม่ ? เพราะเหตุไร ? จงเขียนคำทักนิมิตในทิศตะวันออกเฉียงเหนือมาดู ?

ตอบ

การทักนิมิตในทิศทั้ง 8 นั้น ทักทิศละหน ไม่ถูกต้อง ฯ ที่ถูกต้องนั้น เมื่อเริ่มต้นทักนิมิตในทิศบูรพาแล้ว ทักมาโดยลำดับจนถึงนิมิตสุดท้ายแล้ว ต้องทักนิมิตในทิศบูรพาซ้ำอีก ฯ

คำทักนิมิตในทิศตะวันออกเฉียงเหนือว่าดังนี้ “อุตฺตราย อนุทิสาย กึ นิมิตฺตํ” ฯ


ถาม คำว่า “เจ้าอธิการ” ในพระวินัยหมายถึงใคร ? มีกี่แผนก ? อะไรบ้าง ?

ตอบ เจ้าอธิการ หมายถึง ภิกษุที่สงฆ์สมมติให้เป็นเจ้าหน้าที่ทำกิจการของสงฆ์ มี 5 แผนก คือ

  1. เจ้าอธิการแห่งจีวร
  2. เจ้าอธิการแห่งอาหาร
  3. เจ้าอธิการแห่งเสนาสนะ
  4. เจ้าอธิการแห่งอาราม
  5. เจ้าอธิการแห่งคลัง

ถาม กรานกฐิน ได้แก่การทำอย่างไร ? จงเขียนคำอนุโมทนากฐินมาดู ?

ตอบ

กรานกฐิน ได้แก่ เมื่อมีผ้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ในเดือนท้ายฤดูฝน พอจะทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ สงฆ์พร้อมใจกันยกให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งผู้เหมาะสม ภิกษุผู้ได้รับผ้านั้นนำไปทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งใหแล้วเสร็จในวันนั้น แล้วมาบอกแก่ภิกษุผู้ยกผ้านั้นให้เพื่ออนุโมทนา ภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนาทั้งหมด นี้คือ กรานกฐิน ฯ

คำอนุโมทนากฐินว่า อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ


ถาม การบอกนิสสัย 4 และอกรณียะ 4 บอกในเวลาใด ? และใครเป็นผู้บอก ?

ตอบ ท่านให้บอกในลำดับแห่งอุปสมบทแล้ว ห้ามไม่ให้บอกก่อนหน้าอุปสมบท ฯ อุปัชฌายะบอกก็ได้ กรรมวาจาจารย์หรืออนุสาวนาจารย์บอกก็ได้ ฯ


ถาม อนุวาทาธิกรณ์ คืออะไร ? เมื่อเกิดขึ้นใครต้องขวนขวายเพื่อระงับ ? หากปล่อยไว้จะเกิดผลเสียอย่างไร ?

ตอบ อนุวาทาธิกรณ์ คือการโจทกันด้วยอาบัตินั้น ๆ ฯ ภิกษุผู้เป็นประธานสงฆ์ พึงขวนขวายรีบระงับ ฯ หากไม่รีบระงับจะทำให้เสียสีลสามัญญตาและเสียสามัคคี เป็นทางแตกเป็นนานาสังวาส ฯ


ถาม ในทางพระวินัย การคว่ำบาตร หมายถึงอะไร ? และจะหงายบาตรได้ เมื่อไร ?

ตอบ การคว่ำบาตร หมายถึง การไม่ให้คบหาสมาคมด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ

  1. ไม่รับบิณฑบาตของเขา
  2. ไม่รับนิมนต์ของเขา
  3. ไม่รับไทยธรรมของเขา

เมื่อผู้ถูกคว่ำบาตรนั้นเลิกกล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น นั้นแล้วกลับประพฤติดี พึงหงายบาตรแก่เขาได้ ฯ


พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

ถาม องค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด เรียกว่าอะไร ? มีกำหนดองค์ประกอบไว้อย่างไรบ้าง ?

ตอบ องค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด เรียกว่า มหาเถรสมาคม ฯ มีกำหนดองค์ประกอบไวดั้งนี้

  • สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ โดยตำแหน่ง
  • สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการ โดยตำแหน่ง
  • พระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีจำนวนไม่เกิน 12 รูป เป็นกรรมการ

ถาม ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่น อันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก มีโทษอย่างไร ?

ตอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯ