ธรรม 2

ธรรม 2

ธรรม 2

ธรรม คือ สภาวะหรือปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เมื่อกำหนดด้วยความแตกต่างของธรรมที่เป็นรูปและนาม จะแยกเป็น 2 อย่าง คือ

  1. รูปธรรม สภาวะอันเป็นรูป
  2. อรูปธรรม สภาวะอันมิใช่รูป

รูปธรรม

รูปธรรม คือ สภาวะอันเป็นรูป สิ่งที่เป็นรูป ได้แก่ สภาวะที่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาททั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งก็คือรูปขันธ์ทั้งหมดนั่นเอง

อรูปธรรม

อรูปธรรม คือ สภาวะอันมิใช่รูป สิ่งที่ไม่มีรูป หมายเอาสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาททั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย แต่สามารถรับรู้ได้ด้วยใจ เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความรัก ความหงุดหงิด เป็นต้น หมายเอานามขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมไปถึงพระนิพพาน

ธรรม 2 อีกหมวดหนึ่ง

ธรรม 2

ธรรมหมวดนี้กำหนดด้วยความแตกต่างของธรรมที่เป็นวิสัยของโลกและพ้นวิสัยของโลก แบ่งเป็น 2 ประการ คือ

  1. โลกิยธรรม หรือ โลกียธรรม ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก
  2. โลกุตรธรรม ธรรมอันพ้นวิสัยของโลก หรือ สภาวะที่พ้นจากโลก

โลกิยธรรม

โลกิยธรรม หรือ โลกียธรรม แปลว่า ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก หรือ สภาวะที่เนื่องในโลก หมายถึง ธรรมที่ยังนำพาผู้ปฏิบัติให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้ง 3 คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ คือเป็นธรรมที่ยังเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องของกาม ตัณหา ทิฏฐิ อวิชชา ยังไม่สามารถนำพาผู้ปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง หมายเอาขันธ์ 5 ที่เป็นสภาวะทั้งหมด

โลกุตรธรรม

โลกุตรธรรม แปลว่า ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก หรือ สภาวะที่พ้นจากโลก หมายถึง ธรรมหรือสภาวะที่นำพาผู้ปฏิบัติให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในภพทั้ง 3 คือ กามภพ รูปภพ และ อรูปภพ สามารถนำพาผู้ปฏิบัติให้หลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง หมายเอาโลกุตรธรรม 9 ประการ คือ มรรค 4 ผล 4 และ นิพพาน 1

ธรรม 2 อีกหมวดหนึ่ง

ธรรม 2

ธรรมหมวดนี้กำหนดด้วยความแตกต่างของธรรมที่ถูกปรุงแต่งและไม่ถูกปรุงแต่ง แบ่งเป็น 2 ประการ คือ

  1. สังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง
  2. อสังขตธรรม ธรรมอันปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่ง

สังขตธรรม

สังขตธรรม แปลว่า ธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง หรือสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง หมายเอาขันธ์ 5 ทั้งหมด คือทุกอย่างที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งที่เป็นกลาง ๆ ยกเว้นพระนิพพาน เพราะสิ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และแตกสลายไปในที่สุด

สังขตลักษณะ หรือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ได้ว่าเป็นสังขตธรรม มี 3 อย่าง คือ

  • ความเกิดปรากฏ คือ มีความเกิด
  • ความแตกดับปรากฏ คือ มีการแตกสลายไป
  • เมื่อดำรงอยู่ ความผันแปรเปลี่ยนแปลงย่อมปรากฏ

อสังขตธรรม

อสังขตธรรม แปลว่า ธรรมอันปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่ง หรือ สภาวะที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ พระนิพพาน เพราะไม่ได้เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย

อสังขตลักษณะ หรือ เครื่องหมายที่ทำให้กำหนดรู้ได้ว่าเป็นอสังขตธรรม มี 3 อย่าง คือ

  • ความเกิดไม่ปรากฏ
  • ความแตกดับไม่ปรากฏ
  • เมื่อดำรงอยู่ ความผันแปรเปลี่ยนแปลงไม่ปรากฏ

ธรรม 2 อีกหมวดหนึ่ง

ธรรม 2

ธรรมหมวดนี้กำหนดด้วยความแตกต่างของธรรมที่ถูกยึดและธรรมที่ไม่ถูกยึด แบ่งเป็น 2 อย่าง คือ

  1. อุปาทินนธรรม ธรรมที่ถูกยึด
  2. อนุปาทินนธรรม ธรรมที่ไม่ถูกยึด

อุปาทินนธรรม

อุปาทินนธรรม แปลว่า ธรรมที่ถูกยึด หมายถึง ธรรมที่กรรมอันสัมปยุตด้วยตัณหาและทิฏฐิเข้ายึดครอง ได้แก่ นามขันธ์ 4 ที่เป็นวิบาก และรูปที่เกิดแต่กรรมทั้งหมด

อนุปาทินนธรรม

อนุปาทินนธรรม แปลว่า ธรรมที่ไม่ถูกยึด หมายถึง ธรรมที่กรรมอันสัมปยุตด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่เข้ายึดครอง ได้แก่ นามขันธ์ 4 ส่วนที่เหลือ ที่ไม่เป็นวิบาก รูปที่มิใช่เกิดแต่กรรม และโลกุตรธรรมทั้งหมด

You may also like...