ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นโท พ.ศ. 2544

ถาม พระวินัย แบ่งออกเป็นกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

ตอบ แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ อาทิพรหมจริยกาสิกขาบท 1 อภิสมาจาร 1

ถาม จะปฏิบัติพระวินัยอย่างไร จึงจะเรียกได้ว่า พอดีพองาม ?

ตอบ ต้องปฏิบัติพระวินัยโดยสายกลาง คือไม่ถือเคร่งครัดอย่างงมงายจนเป็นเหตุต้องทำตนให้เป็นคนลำบาก เพราะเหตุธรรมเนียมเล็ก ๆ น้อย ๆ อันขัดต่อกาลเทศะ และไม่สะเพร่ามักง่าย ละเลยต่อธรรมเนียมของภิกษุ จนถึงทำตนให้เป็นคนเลวทราม จึงจะเรียกได้ว่า พอดีพองาม


ถาม ภิกษุผู้ไม่เอื้อเฟื้อในอภิสมาจารมีโทษอย่างไรบ้าง ?

ตอบ มีโทษปรับอาบัติถุลลัจจัยเป็นอย่างสูง แต่มีน้อย ส่วนมากปรับอาบัติทุกกฏเป็นพื้น

ถาม ภิกษุเปลือยกายด้วยอาการอย่างไรบ้าง ที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติและไม่ต้องอาบัติ ?

ตอบ

  • ถ้าเปลือยกายเป็นวัตรอย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
  • ถ้าเปลือยกายทำกิจแก่กัน คือไหว้ รับไหว้ ทำบริกรรม ให้ของ รับของ เปลือยกายในเวลาฉันและดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ
  • แต่ในเรือนไฟและในน้ำ ไม่ต้องอาบัติ

ถาม พระพุทธองค์ทรงอนุญาตผ้าสำหรับทำจีวรไว้กี่ชนิด ? อะไรบ้าง ?

ตอบ ทรงอนุญาตไว้ 6 ชนิดคือ

  1. โขมะ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้
  2. กัปปาสิกะ ผ้าทำด้วยฝ้าย
  3. โกเสยยะ ผ้าทำด้วยไหม
  4. กัมพละ ผ้าทำด้วยขนสัตว์
  5. สาณะ ผ้าทำด้วยเปลือกป่าน
  6. ภังคะ ผ้าทำด้วยของ 5 อย่างนั้น แต่อย่างใดอย่างหนึ่งปนกัน

ถาม วัสสิกสาฎกได้แก่ผ้าเช่นไร ? มีจำกัดประมาณ กว้าง ยาว ไว้อย่างไร ?

ตอบ ได้แก่ผ้าอาบน้ำฝน มีจำกัดประมาณยาว 6 คืบ กว้าง 2 คืบครึ่ง แห่งคืบพระสุคต


ถาม อาจารย์ทางพระวินัยตามนัยอรรถกถามีเท่าไร ? อะไรบ้าง ?

ตอบ มี 4 คือ

  • ปัพพชาจารย์
  • อุปสัมปทาจารย์
  • นิสสยาจารย์
  • อุทเทสาจารย์

ถาม อาจารย์เหล่านั้นทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ?

ตอบ ทำหน้าที่ต่างกัน คือ

  • ปัพพชาจารย์ ทำหน้าที่ให้สรณคมน์เมื่อบรรพชา
  • อุปสัมปทาจารย์ ทำหน้าที่สวดกรรมวาจาเมื่ออุปสมบท
  • นิสสยาจารย์ ทำหน้าที่ให้นิสัย
  • อุทเทสาจารย์ ทำหน้าที่สอนธรรม

ถาม คำว่า ถือนิสัย หมายความว่าอะไร ?

ตอบ หมายความว่า ยอมตนอยู่ในความปกครองของพระเถระผู้มีคุณสมบัติควรปกครองตนได้ ยอมตนให้ท่านปกครองพึ่งพิงพำนักอาศัยท่าน

ถาม จงเขียนคำขอนิสัยอาจารย์พร้อมทั้งคำแปล

ตอบ คำขอนิสัยอาจารย์ว่าดังนี้ ” อาจริโย เม ภนฺเต โหหิ , อายสฺมโต นิสฺสาย วจฺฉามิ ” ซึ่งแปลว่า ” ขอท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอยู่อาศัยท่าน


ถาม ภิกษุเช่นไร ชื่อว่า นวกะ มัชฌิมะ เถระ ?

ตอบ

  • ภิกษุมีพรรษาไม่ถึง 5 เรียกว่า นวกะ
  • ภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ 5 ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 10 เรียกว่า มัชฌิมะ
  • ภิกษุมีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป เรียกว่า เถระ

ถาม วัตรอันภิกษุควรประพฤติในคำว่า วตฺตสมฺปนฺโน นั้นคืออะไรบ้าง ?

ตอบ คือ

  1. กิจวัตร ว่าด้วยกิจอันควรทำ
  2. จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ
  3. วิธิวัตร ว่าด้วยแบบอย่าง

ถาม ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาไม่ขาดย่อมได้อานิสงส์เท่าไร ? อะไรบ้าง ?

ตอบ ได้อานิสงส์ 5 คือ

  1. เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ 6 แห่งอเจลกวรรค
  2. เที่ยวจาริกไปไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ
  3. ฉันคณโภชน์ และปรัมปรโภชน์ได้
  4. เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
  5. จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น จักเป็นของได้แก่พวกเธอ

ถาม ภิกษุพึงประชุมกันสวดพระปาฏิโมกข์ในวันเช่นไรบ้าง ?

ตอบ ในวันพระจันทร์เพ็ญ (ดิถีขึ้น 15 ค่ำ) วันพระจันทร์ดับ (ดิถีแรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ) และวันสามัคคี


ถาม ภิกษุจำพรรษา 1 รูป 2, 3, 4, 5 รูป เมื่อถึงวันปวารณาพึงปฏิบัติอย่างไร ?

ตอบ พึงปฏิบัติอย่างนี้ ภิกษุ 1 รูป พึงอธิษฐานเป็นการบุคคล, ภิกษุ 2, 3, 4 รูป พึงทำคณะปวารณา, ภิกษุ 5 รูปขึ้นไปพึงทำสังฆปวารณา

ถาม เหตุที่ทำให้เลื่อนปวารณาได้มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

ตอบ มี 2 อย่างคือ

  1. ภิกษุจะเข้ามาสมทบปวารณาด้วย ด้วยหมายจะคัดค้านผู้นั้นผู้นี้ ทำให้เกิดอธิกรณ์ขึ้น
  2. อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ปวารณาแล้วต่างจะจากกันจาริกไปเสีย

ถาม การทำนอกรีตนอกรอยของสมณะ เรียกว่าอะไร ? มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

ตอบ เรียกว่า อุปปถกิริยา, มี 3 อย่างคือ

  • อนาจาร
  • ปาปสมาจาร
  • อเนสนา

ถาม จงบอกความหมายของแต่ละอย่างด้วย

ตอบ

  • ความประพฤติไม่ดีไม่งาม และเล่นมีประการต่าง ๆ จัดเข้าในอนาจาร
  • ความประพฤติเลวทราม จัดเข้าในปาปสมาจาร
  • ความเลี้ยงชีพไม่สมควร จัดเข้าในอเนสนา

ถาม ลหุภัณฑ์ และครุภัณฑ์ที่เป็นของสงฆ์ คือของเช่นไร ? อย่างไหนแจกกันได้ และไม่ได้ ?

ตอบ

  • ลหุภัณฑ์ คือของเบา มีบิณฑบาต เภสัช กับบริขารที่จะใช้สำหรับตัว คือบาตร จีวร ประคดเอว เข็ม มีดพับ มีดโกน เป็นของที่แจกกันได้
  • ครุภัณฑ์ คือของหนัก ไม่ใช่ของสำหรับใช้สิ้นไป เป็นของควรรักษาไว้ได้นาน เป็นเครื่องใช้ในเสนาสนะ หรือเป็นตัวเสนาสนะเอง ตลอดถึงกุฎีและที่ดิน เป็นของที่แจกกันไม่ได้

ถาม วินัยกรรม กับสังฆกรรม ต่างกันอย่างไร ?

ตอบ ต่างกันอย่างนี้

  • กรรมที่ภิกษุแต่ละรูปหรือหลายรูปจะพึงกระทำตามพระวินัย เช่น การแสดงอาบัติ อธิษฐาน วิกัป เป็นต้น เรียกว่าวินัยกรรม
  • กรรมที่ภิกษุครบองค์สงฆ์จตุวรรคเป็นต้น พึงทำเป็นการสงฆ์ เช่น อปโลกนกรรม ญัตติกรรม เป็นต้น เรียกว่าสังฆกรรม