ปัญหาและเฉลยวิชาวินัย  นักธรรมชั้นเอก พ.ศ. 2558

ถาม สังฆกรรมย่อมวิบัติ โดยอะไรบ้าง ? สงฆ์ให้อุปสมบทแก่อภัพพบุคคล เป็นสังฆกรรมวิบัติโดยอะไร ?

ตอบ สังฆกรรมย่อมวิบัติโดยวัตถุ สีมา ปริสะ และกรรมวาจา ฯ สงฆ์ให้อุปสมบทแก่อภัพพบุคคล เป็นสังฆกรรมวิบัติโดยวัตถุ ฯ


ถาม สีมา มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ? ประเภทไหนสมมติเป็นติจีวราวิปปวาสไม่ได้ ?

ตอบ สีมามี 2 ประเภท คือ

  1. พัทธสีมา คือแดนที่ผูก หมายถึงเขตอันสงฆ์กำหนดเอาเอง
  2. อพัทธสีมา คือแดนที่ไม่ได้ผูก หมายถึงเขตอันเขากำหนดไว้โดยปกติของบ้านเมือง หรือเขตที่มีสัญญัติอย่างอื่นเป็นเครื่องกำหนด ฯ

ประเภทอพัทธสีมาสมมติเป็นติจีวราวิปปวาสไม่ได้ ฯ


ถาม ภิกษุผู้ควรได้รับเลือกให้เป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ พึงประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ? และจะปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ตั้งแต่เมื่อไร ?

ตอบ ภิกษุผู้ควรได้รับเลือกให้เป็นเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ พึงประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ คือ

  1. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ
  2. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะเกลียดชัง
  3. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะงมงาย
  4. ไม่ถึงความลำเอียงเพราะกลัว
  5. เข้าใจการทำหน้าที่อย่างนั้น

จะปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ตั้งแต่สงฆ์สวดสมมติด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาให้เป็นเจ้าหน้าที่นั้น ฯ


ถาม อานิสงส์กฐินจะสิ้นสุดลง เพราะเหตุอะไรบ้าง ?

ตอบ เพราะปลิโพธ 2 ประการ คือ อาวาสปลิโพธ ความกังวลในอาวาส และจีวรปลิโพธ ความกังวลในจีวร ขาดลง และสิ้นสุดเขตจีวรกาล ฯ


ถาม อภัพพบุคคลผู้กระทำผิดต่อพระศาสนา ถูกห้ามอุปสมบท มีกี่ประเภท ? อะไรบ้าง ?

ตอบ มี 7 ประเภท คือ

  1. คนฆ่าพระอรหันต์
  2. คนทำร้ายภิกษุณี ได้แก่ผู้ข่มขืนภิกษุณีในอัชฌาจาร
  3. คนลักเพศ คือคนถือเพศเป็นภิกษุเอง
  4. ภิกษุไปเข้ารีตเดียรถีย์
  5. ภิกษุต้องปาราชิกละเพศไปแล้ว
  6. ภิกษุทำสังฆเภท
  7. คนทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิต

ถาม การโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติ ทำด้วยกายก็ได้ ด้วยวาจาก็ได้ อยากทราบว่า การโจทด้วยกายนั้นทำอย่างไร ?

ตอบ ทำโดยแสดงอาการไม่นับถือว่าเป็นภิกษุ มีการไม่อภิวาทเป็นต้น การเขียนหนังสือโจท ก็จัดว่าเป็นการโจทด้วยกาย ฯ


ถาม อธิกรณ์อันสงฆ์วินิจฉัยแล้ว ฝ่ายไม่ชอบใจ จักอุทธรณ์ต่อสงฆ์อื่นให้วินิจฉัยใหม่ได้หรือไม่ ? จงอธิบายพอเข้าใจ

ตอบ ได้ก็มี ไม่ได้ก็มี ฯ ตามสิกขาบทที่ 3 แห่งสัปปาณวรรค ปาจิตติยกัณฑ์ โจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี สงฆ์ก็ดี รู้อยู่ว่าอธิกรณ์นั้น สงฆ์หมู่นั้นวินิจฉัยเป็นธรรมแล้ว ฟื้นขึ้นเพื่อวินิจฉัยใหม่ ต้องอาบัติปาจิตติยะ เป็นอันอุทธรณ์ไม่ได้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรม ฟื้นขึ้นไม่เป็นอาบัติ เป็นอันอุทธรณ์ได้ ฯ


ถาม รัตติเฉท คืออะไร ? รัตติเฉทของภิกษุผู้ประพฤติมานัต มีเท่าไร ? อะไรบ้าง ?

ตอบ รัตติเฉท คือการขาดราตรี ฯ รัตติเฉทของภิกษุผู้ประพฤติมานัตมี 4 อย่าง คือ

  1. สหวาโส อยู่ร่วม
  2. วิปฺปวาโส อยู่ปราศ
  3. อนาโรจนา ไม่บอก
  4. อูเน คเณ จรณํ ประพฤติในคณะอันพร่อง

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

ถาม ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัด ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

ตอบ มี 3 อย่าง คือ

  1. ที่วัด คือที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น
  2. ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด
  3. ที่กัลปนา คือที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา

ถาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์มาตรา 37 ระบุหน้าที่เจ้าอาวาสไว้กี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

ตอบ ระบุไว้ 4 อย่าง คือ

  1. บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี
  2. ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
  3. เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์
  4. ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล