ปัญหาและเฉลยวิชาวินัย  นักธรรมชั้นเอก พ.ศ. 2554

ถาม สงฆ์ผู้ทำสังฆกรรม ท่านจัดเป็นวรรคไว้อย่างไรบ้าง ? แต่ละวรรคทำกรรมอะไรได้บ้าง ?

ตอบ จัดอย่างนี้ คือ

  • สงฆ์มีจำนวน 4 รูป เรียกว่า จตุรวรรค
  • สงฆ์มีจำนวน 5 รูป เรียกว่า ปัญจวรรค
  • สงฆ์มีจำนวน 10 รูป เรียกว่า ทสวรรค
  • สงฆ์มีจำนวน 20 รูป เรียกว่า วีสติวรรค

แต่ละวรรคทำกรรมได้ดังนี้

  • สังฆกรรมทุกอย่าง เว้นปวารณา ให้ผ้ากฐิน อุปสมบท และอัพภาน สงฆ์จตุรวรรคทำได้
  • ปวารณา ให้ผ้ากฐิน อุปสมบทในปัจจันตชนบท สงฆ์ปัญจวรรคทำได้
  • อุปสมบทในมัธยมชนบท สงฆ์ทสวรรคทำได้
  • อัพภาน สงฆ์วีสติวรรคทำได้
  • สงฆ์มีจำนวนมากกว่าที่กำหนดไว้ สามารถทำกรรมประเภทนั้น ๆ ได้

ถาม สีมา คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ?

ตอบ คือ เขตประชุมของสงฆ์ผู้ทำสังฆกรรม ฯ มีความสำคัญอย่างนี้ พระศาสดาทรงพระอนุญาตให้สงฆ์พร้อมเพรียงกันทำสังฆกรรมภายในสีมา เพื่อจะรักษาสามัคคีในสงฆ์ อันความสามัคคีย่อมเป็นกำลังใหญ่ของหมู่ ขาดความสามัคคีแล้ว หมู่ย่อมไม่ตั้งถาวร ถ้าไม่มีสีมาก็ไม่มีเขตประชุม สีมาจึงมีความสำคัญอย่างนี้ ฯ


ถาม สงฆ์ผู้มีสิทธิรับผ้ากฐิน ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ? ภิกษุผู้ควรครองผ้ากฐิน พึงมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ? จงบอกมาสัก 5 ข้อ

ตอบ

สงฆ์ผู้มีสิทธิรับผ้ากฐินต้องเป็นผู้จำพรรษามาแล้วถ้วนไตรมาสไม่ขาดในอาวาสเดียวกัน มีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไป ฯ

ภิกษุผู้ควรครองผ้ากฐิน พึงมีคุณสมบัติอย่างนี้ คือ (ให้ตอบเพียง 5 ข้อ ใน 8 ข้อต่อไปนี้)

  1. รู้จักบุพพกรณ์
  2. รู้จักถอนไตรจีวร
  3. รู้จักอธิษฐานไตรจีวร
  4. รู้จักการกราน
  5. รู้จักมาติกา คือหัวข้อแห่งการเดาะกฐิน
  6. รู้จักปลิโพธกังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน
  7. รู้จักการเดาะกฐิน
  8. รู้จักอานิสงส์กฐิน

ถาม ภิกษุถือว่าได้รับอานิสงส์กฐินแล้ว เข้าบ้านในเวลาวิกาลโดยไม่บอกลา ต้องอาบัติอะไรหรือไม่ ? เพราะเหตุไร ?

ตอบ ในกรณีที่รับนิมนต์แล้ว ไปในที่นิมนต์ ภายหลังภัตรเข้าบ้านโดยไม่บอกลา ไม่ต้องอาบัติ ซึ่งได้รับยกเว้นด้วยอานิสงส์ที่ว่าเที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ตามสิกขาบทที่ 6 แห่งอเจลกวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ ฯ แต่ในกรณีที่ไม่ได้รับนิมนต์ เข้าบ้านในเวลาวิกาล ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ตามสิกขาบทที่ 3 แห่งรัตนวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์ ยกเว้นในกรณีรีบด่วน เช่น ภิกษุถูกงูกัดรีบเข้าไปเพื่อหายาหรือตามหมอ ฯ


ถาม องคสมบัติของภิกษุผู้จะเป็นอุปัชฌาย์ให้อุปสมบท เป็นอาจารย์ให้นิสัย ที่กำหนดไว้ในบาลีมีหลายอย่าง แม้บกพร่องบางอย่างก็ได้ แต่ที่ขาดไม่ได้คือองคสมบัติอะไร ?

ตอบ ที่ขาดไม่ได้ คือ มีพรรษา 10 หรือยิ่งกว่า ฯ


ถาม ในการอุปสมบท คนที่ได้ชื่อว่าลักเพศ ได้แก่คนเช่นไร ?

ตอบ ได้แก่คนถือเพศภิกษุเอาเอง ด้วยตั้งใจจะปลอมเข้าอยู่ในหมู่ภิกษุ ดังคำกล่าวว่า เดียรถีย์ปลอมเข้าอยู่ในหมู่ภิกษุครั้งอโศกรัชกาล ถ้าคนนั้นเป็นแต่สักว่าทรงเพศเพราะเหตุอย่างอื่น เป็นต้นว่าเพื่อหนีภัย ไม่จัดเป็นคนลักเพศ ฯ


ถาม ตัชชนียกรรมและตัสสปาปิยสิกากรรม กรรมไหนสำหรับลงโทษแก่ภิกษุผู้เป็นโจทก์ ? กรรมไหนสำหรับลงโทษแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลย? เพราะประพฤติบกพร่องอย่างไร ?

ตอบ

ตัชชนียกรรมสำหรับลงโทษแก่ภิกษุผู้เป็นโจทก์ เพราะจงใจหาความเท็จใส่ภิกษุอื่น ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์

ตัสสปาปิยสิกากรรมสำหรับลงโทษแก่ภิกษุผู้เป็นจเลย เพราะเป็นผู้จงใจปกปิดความประพฤติเสียหายของตนด้วยการให้การเท็จ ฯ


ถาม วุฏฐานวิธีหมายถึงอะไร ? ในการทำวุฏฐานวิธีแต่ละอย่างนั้น ต้องการสงฆ์จำนวนเท่าไรเป็นอย่างน้อย ?

ตอบ วุฏฐานวิธี หมายถึง ระเบียบวิธีเป็นเครื่องออกจากอาบัติสังฆาทิเสส ฯ อัพภาน ต้องการสงฆ์ 20 รูปเป็นอย่างน้อย นอกนั้นต้องการตั้งงแต่ 4 รูปขึ้นไป ฯ


พระราชบัญญัติคณะสงฆ์

ถาม คำว่า คณะสงฆ์ และคณะสงฆ์อื่น แห่งมาตรา 5 ทวิ ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์หมายถึงใคร ?

ตอบ

คณะสงฆ์ หมายถึง บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนกิจในหรือนอกราชอาณาจักร ฯ

คณะสงฆ์อื่น หมายถึง บรรดาบรรพชิตจีนนิกายหรืออนัมนิกาย ฯ


ถาม องค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุด คืออะไร ? มีการกำหนดองค์ประกอบไว้อย่างไร ?

ตอบ คือ มหาเถรสมาคม ฯ มีการกำหนดองค์ประกอบไว้อย่างนี้ คือ

  • สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
  • สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตแหน่ง
  • พระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีจำนวนไม่เกิน 12 รูปเป็นกรรมการ