ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. 2556

ถาม หิริ และ โอตตัปปะ ได้ชื่อว่า ธรรมเป็นโลกบาล เพราะเหตุไร ?

ตอบ เพราะเป็นคุณธรรมทำบุคคลให้รังเกียจ และเกรงกลัวต่อบาปทุจริต ไม่กล้าทำความชั่วทั้งในที่ลับ และที่แจ้ง ฯ


ถาม การทำบุญโดยย่อมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

ตอบ มี 3 อย่าง ฯ คือ ทาน ศีล ภาวนา ฯ


ถาม เหตุให้เกิดทุกข์ในอริยสัจ คืออะไร ?

ตอบ คือตัณหา ความทะยานอยาก ฯ


ถาม อภิณหปัจจเวกขณ์ คือข้อที่ควรพิจารณาเนือง ๆ 5 อย่าง ทรงสอนให้พิจารณาอะไรบ้าง ?

ตอบ ทรงสอนให้พิจารณา

  1. ความแก่ ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
  2. ความเจ็บไข้ ว่าเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
  3. ความตาย ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
  4. ความพลัดพราก ว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
  5. กรรม ว่าเรามีกรรมเป็นของตัวเราทำดีจักได้ดีทำชั่วจักได้ชั่ว

ถาม ขันธ์ 5 ได้แก่อะไรบ้าง ? ย่อเป็น 2 อย่างไร ?

ตอบ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ฯ ย่อเป็น 2 อย่างนี้คือ รูปขันธ์ คงเป็นรูป เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ 4 ขันธ์นี้เป็นนาม ฯ


ถาม บรรพชิตผู้พิจารณาเนือง ๆ ว่า วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ จะได้รับประโยชน์อะไร ?

ตอบ จะได้รับประโยชน์คือเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร งดเว้นสิ่งที่เป็นโทษ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฯ


ถาม จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้

  1. พาหุสัจจะ
  2. อกุสลมูล
  3. อินทรียสังวร
  4. อนัตตตา
  5. กามฉันท์

ตอบ

  1. พาหุสัจจะ คือ ความเป็นผู้ศึกษามาก
  2. อกุสลมูล คือ รากเหง้าของอกุศล
  3. อินทรียสังวร คือ ความสำรวมอินทรีย์
  4. อนัตตตา คือ ความเป็นของไม่ใช่ตน
  5. กามฉันท์ คือ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น

คิหิปฏิบัติ

ถาม มิตรแท้ มีกี่จำพวก ? อะไรบ้าง ?

ตอบ มี 4 จำพวก ฯ คือ

  1. มิตรมีอุปการะ
  2. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
  3. มิตรแนะประโยชน์
  4. มิตรมีความรักใคร่

ถาม คุณธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจของผู้อื่นไว้ได้ มีอะไรบ้าง ?

ตอบ มี

  1. ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน
  2. ปิยวาจา เจรจาวาจาที่อ่อนหวาน
  3. อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
  4. สมานัตตตา ความเป็นคนมีตนเสมอไม่ถือตัว

ถาม ศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นนิตย์ คือศีลอะไร ? ได้แก่อะไรบ้าง ?

ตอบ คือ ศีล 5 ฯ ได้แก่

  1. เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป
  2. เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย
  3. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
  4. เว้นจากพูดเท็จ
  5. เว้นจากดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท