ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นเอก พ.ศ. 2556

ถาม นิพัทธทุกข์ กับ สหคตทุกข์ ต่างกันอย่างไร ?

ตอบ

นิพัทธทุกข์ คือทุกข์เนืองนิตย์ หรือทุกข์เป็นเจ้าเรือน ได้แก่ หนาว ร้อน หิว ระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ส่วนสหคตทุกข์ คือทุกข์ไปด้วยกัน หรือทุกข์กำกับกัน ได้แก่ทุกข์ที่
เนื่องมาจากวิบุลผล ฯ


ถาม ความเป็นอนัตตาของสังขารพึงกำหนดรู้ด้วยอาการอย่างไรบ้าง ?

ตอบ ความเป็นอนัตตาของสังขารพึงกำหนดรู้ด้วยอาการอย่างนี้

  1. ด้วยไม่อยู่ในอำนาจ หรือด้วยฝืนความปรารถนา
  2. ด้วยแย้งต่ออัตตา
  3. ด้วยความเป็นสภาพหาเจ้าของมิได้
  4. ด้วยความเป็นสภาพสูญ คือว่างหรือหายไป

ถาม คำว่า วฏฺฏ ในคำว่า “วฏฺฏูปจฺเฉโท” หมายถึงอะไร ? วฏฺฏ นั้นชื่อว่าขาดสายด้วยอาการอย่างไร ?

ตอบ หมายถึง ความเวียนเกิด ด้วยอำนาจกิเลส กรรม วิบาก ฯ วฏฺฏ นั้นชื่อว่าขาดสายด้วยอาการที่ละกิเลสอันเป็นเบื้องต้นเสีย ฯ


ถาม ความเชื่อว่ามีพระเจ้าผู้สร้าง ทำการอ้อนวอนและบวงสรวงเป็นอาทิ จัดเข้าในอาสวะข้อไหน ?

ตอบ จัดเข้าใน อวิชชาสวะ ฯ


ถาม พระบาลีว่า “นิกฺขิปิตฺวา ครุํ ภารํ อญฺญํ ภารํ อนาทิย ปลงภาระอันหนักเสียแล้ว ไม่ถือเอาภาระอันอื่น” ถามว่า “ภาระ” “การไม่ถือเอาภาระ” “การปลงภาระ” ได้แก่อะไร ?

ตอบ

  • ภาระ ได้แก่เบญจขันธ์
  • การไม่ถือเอาภาระ ได้แก่การไม่ถือเอาเบญจขันธ์ด้วยอุปาทาน
  • การปลงภาระ ได้แก่การถอนอุปาทานในเบญจขันธ์

ถาม คุณของพระธรรมส่วนปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ โดยย่อว่าอย่างไร ? จงอธิบาย

ตอบ

  • คุณของปริยัติธรรม คือให้รู้วิธีบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา
  • คุณของปฏิปัตติธรรม คือทำกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน
  • คุณของปฏิเวธธรรม คือละกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน บรรลุถึงความสุขอย่างยิ่ง

ถาม ในอรกสูตรกล่าวไว้ว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อนาบไฟ มีอธิบายอย่างไร ? และที่กล่าวไว้เช่นนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ?

ตอบ

มีอธิบายว่า ธรรมดาว่าชิ้นเนื้อที่บุคคลเอาลงในกะทะเหล็กอันร้อนตลอดวันยังค่ำ ย่อมจะพลันไหม้ ไม่ตั้งอยู่นานฉันใด ชีวิตก็ถูกเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์เผาผลาญให้เหี้ยมเกรียมไม่ทนอยู่นานฉันนั้น ฯ

มีประโยชน์ คือเป็นเครื่องเตือนใจให้รู้สึกด้วยปัญญา ทำให้ไม่ประมาทในชีวิต เร่งสั่งสมความดี ฯ


ถาม วิปลาส คืออะไร ? จำแนกโดยวัตถุเป็นที่ตั้งมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

ตอบ วิปลาส คือ กิริยาที่ถือเอาโดยอาการวิปริตผิดจากความจริง มี 4 อย่าง คือ

  • ความสำคัญคิดเห็นในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง
  • ความสำคัญคิดเห็นในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
  • ความสำคัญคิดเห็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน
  • ความสำคัญคิดเห็นในสิ่งที่ไม่งามว่างาม

ถาม ในนวสีวถิกาปัพพะ เมื่อเห็นซากศพชนิดใดชนิดหนึ่งใน 9 ชนิดนั้น พึงภาวนาอย่างไร ?

ตอบ พึงภาวนาโดยการน้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า อยมฺปิ โข กาโย ถึงร่างกายอันนี้เล่า เอวํธมฺโม ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา เอวํภาวี จักเป็นอย่างนี้ เอวํ อนตีโต ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ฯ


ถาม ข้อว่า อนัตตสัญญา ในคิริมานนทสูตร ทรงให้พิจารณาอะไรว่าเป็นอนัตตา ?

ตอบ ทรงให้พิจารณาอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ว่าเป็นอนัตตา ฯ