ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นเอก พ.ศ. 2545

ถาม อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา มีอะไรปิดบังไว้จึงไม่ปรากฏ ?

ตอบ อนิจจตา ความที่สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ถูกสันตติปิดบังไว้จึงไม่ปรากฏทุกขตา ความที่สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ถูกอิริยาบถปิดบังไว้ จึงไม่ปรากฏอนัตตตา ความที่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถูกฆนสัญญาปิดบังไว้ จึงไม่ปรากฏ ฯ

ถาม อนิจจตา กำหนดรู้ได้ด้วยอาการอย่างไรบ้าง ?

ตอบ กำหนดรู้ได้ด้วยอาการ 3 อย่าง คือ

  1. ในทางง่าย ด้วยความเกิดขึ้นในเบื้องต้น และความสิ้นไปในเบื้องปลาย
  2. ในทางละเอียดกว่านั้น ย่อมกำหนดรู้ได้ด้วยความแปรในระหว่างเกิดและดับ
  3. ในทางอันเป็นอย่างสุขุม ย่อมกำหนดเห็นความแปรแห่งสังขารในชั่วขณะหนึ่งๆ คือไม่คงที่อยู่นาน เพียงในระยะกาลนิดเดียวก็แปรแล้ว ฯ

ถาม นิพพิทาญาณ หมายถึงอะไร ?

ตอบ หมายถึงปัญญาของผู้บำเพ็ญเพียรจนเกิดความหน่ายในสังขาร ฯ

ถาม ปฏิปทาแห่งนิพพิทา เป็นเช่นไร ?

ตอบ การพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา แล้วเกิดนิพพิทา เบื่อหน่ายในทุกขขันธ์ ไม่เพลิดเพลินหมกมุ่นอยู่ในสังขารอันยั่วยวนเสน่หา นี้เป็นปฏิปทาแห่งนิพพิทา ฯ


ถาม วิราคะเป็นยอดแห่งธรรมทั้งปวง คำว่า “ธรรมทั้งปวง” หมายถึงอะไร ?

ตอบ หมายถึง สังขตธรรม คือธรรมอันธรรมดาปรุงแต่ง และอสังขตธรรม คือธรรมอันธรรมดามิได้ปรุงแต่ง ฯ

ถาม นิโรธ ที่เป็นไวพจน์แห่ง วิราคะ หมายถึงอะไร ?

ตอบ หมายถึงความดับทุกข์ เนื่องมาจากดับตัณหา ฯ


ถาม ตัณหาคืออะไร ? ตัณหานั้น เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดที่ไหนและเมื่อดับย่อมดับที่ไหน ?

ตอบ คือความอยาก ฯ เมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดในสิ่งเป็นที่รักที่ยินดีในโลก เมื่อดับ ย่อมดับในสิ่งเป็นที่รักที่ยินดีในโลก ฯ

ถาม คำว่า มทนิมฺมทโน ธรรมยังความเมาให้สร่าง หมายถึงความเมาในอะไร ?

ตอบ หมายถึงความเมาในอารมณ์อันยั่วยวนให้เกิดความเมาทุกประการ เช่น สมบัติแห่งชาติ สกุล อิสริยะ บริวาร ก็ดี ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ดี เยาว์วัย ความหาโรคมิได้ และชีวิต ก็ดี นับเข้าในอารมณ์ประเภทนี้ ฯ


ถาม บาลีแสดงปฏิปทาแห่งสันติว่า โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข ความว่า ผู้เพ่งความสงบพึงละอามิสในโลกเสีย คำว่า อามิสในโลก หมายถึงอะไร ?

ตอบ หมายถึงปัญจพิธกามคุณ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ ฯ

ถาม ที่เรียกว่า อามิสในโลก เพราะเหตุไร ?

ตอบ เพราะเป็นเครื่องล่อใจให้ติดในโลก ดุจเหยื่ออันเบ็ดเกี่ยวอยู่ ฯ


ถาม จงแสดงพระพุทธคุณ 9 โดยอัตตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ พอได้ใจความ ?

ตอบ

  • พระพุทธคุณ ตั้งแต่ อรหํ จนถึง โลกวิทู เป็นพระพุทธคุณส่วนอัตตสมบัติ
  • พระพุทธคุณ คือ อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นพระพุทธคุณส่วนปรหิตปฏิบัติ
  • พระพุทธคุณ คือ พุทฺโธ ภควา เป็นพระพุทธคุณทั้งอัตตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ ฯ

ถาม ในพระพุทธคุณ 9 ประการนั้น ส่วนไหนเป็นเหตุ ส่วนไหนเป็นผล ? เพราะเหตุไร ?

ตอบ พระพุทธคุณ ส่วนอัตตสมบัติ เป็นเหตุ ส่วนปรหิตปฏิบัติ เป็นผล เพราะทรงบริบูรณ์ด้วยพระพุทธคุณส่วนอัตตสมบัติก่อนแล้วจึงทรงบำเพ็ญพุทธกิจให้สำเร็จประโยชน์แก่เวไนย ฯ


ถาม ปัจจุบันนี้ การเจริญกัมมัฏฐาน เป็นที่นิยมของสาธุชน ขอทราบว่า กัมมัฏฐานนั้นมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

ตอบ มี 2 อย่าง คือ

  1. สมถกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายสงบใจ
  2. วิปัสสนากัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา ฯ

ถาม ธรรมที่เป็นหัวใจของสมถกัมมัฏฐาน มีอะไรบ้าง ?

ตอบ มีกายคตาสติ เมตตา พุทธานุสสติ กสิณ และจตุธาตุววัตถาน ฯ


ถาม กายคตาสติกัมมัฏฐาน กับ อสุภกัมมัฏฐาน แตกต่างกันอย่างไร ?

ตอบ กายคตาสติกัมมัฏฐาน พิจารณาร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ให้เห็นเป็นของน่าเกลียด ส่วนอสุภกัมมัฏฐาน พิจารณาซากศพ ฯ

ถาม กสิณ แปลว่าอะไร และเป็นคู่ปรับแก่นิวรณ์ชนิดไหน ?

ตอบ แปลว่า วัตถุอันจูงใจ คือจูงใจให้เข้าไปผูกอยู่ เป็นชื่อของกัมมัฏฐาน แปลว่า มีวัตถุที่ชื่อว่ากสิณเป็นอารมณ์ เป็นคู่ปรับแก่อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ฯ


ถาม การเจริญมรณสติอย่างไร จึงจะแยบคาย ?

ตอบ เจริญพร้อมด้วยองค์ 3 คือ

  1. มีสติ ระลึกถึงความตาย
  2. มีญาณ รู้ว่าความตายจักมีเป็นแน่ ตัวจะต้องตายเป็นแท้
  3. เกิดสังเวชสลดใจเจริญอย่างนี้จึงจะแยบคาย ฯ

ถาม ในนวสีวถิกาปัพพะ เมื่อภิกษุเห็นซากศพชนิดใดชนิดหนึ่งใน 9 ชนิดนั้น ท่านให้ภาวนาอย่างไร ?

ตอบ ท่านให้ภาวนาโดยการน้อมเข้ามาสู่กายนี้นี่แลว่า อยมฺปิ โข กาโย ถึงร่างกายอันนี้เล่า เอวํ ธมฺโม ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา เอวํ ภาวี จักเป็นอย่างนี้ เอวํ อนตีโต ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ฯ


ถาม อานาปานสติ ในคิริมานนทสูตร กับในมหาสติปัฏฐานสูตร ต่างกันอย่างไร ?

ตอบ ในคิริมานนทสูตร แสดงการกำหนดลมหายใจที่เป็นไปพร้อมในกาย เวทนา จิต และธรรม ส่วนในมหาสติปัฏฐานสูตร แสดงแต่เพียงกายานุปัสสนาเท่านั้น ฯ

ถาม ผู้เจริญเมตตาเป็นประจำย่อมได้รับอานิสงส์ อย่างไรบ้าง ?

ตอบ ย่อมได้รับอานิสงส์ 11 ประการ คือ

  1. หลับอยู่ก็เป็นสุข
  2. ตื่นอยู่ก็เป็นสุข
  3. ไม่ฝันเห็นสิ่งลามก
  4. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
  5. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
  6. เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
  7. ไฟไม่ไหม้ พิษหรือศัสตราวุธทั้งหลายประทุษร้ายไม่ได้
  8. จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว
  9. ผิวพรรณผ่องใสงดงาม
  10. ไม่หลงทำกาลกิริยา คือเมื่อจะตายย่อมได้สติ
  11. เมื่อตายแล้วแม้เกิดอีกก็เกิดในสถานที่ดี เป็นที่เสวยสุข ถ้าไม่เสื่อมจากฌาน ก็ไปเกิดในพรหมโลก ฯ