ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นโท พ.ศ. 2554

ถาม ภิกษุผู้ปฏิบัติพระวินัยส่วนอภิสมาจารให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีงาม จะต้องปฏิบัติอย่างไร ?

ตอบ จะชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีงาม ต้องปฏิบัติโดยสายกลาง คือไม่ถือเคร่งครัดอย่างงมงาย จนเป็นเหตุทำตนให้ลำบากเพราะเหตุธรรมเนียมเล็ก ๆ น้อย ๆ อันขัดต่อกาลเทศะ และไม่สะเพร่ามักง่าย ละเลยต่อธรรมเนียมของภิกษุ จนถึงทำตนให้เป็นคนเลวทราม ฯ


ถาม เปลือยกายอย่างไรต้องอาบัติถุลลัจจัย ? อย่างไรต้องอาบัติทุกกฎ ?

ตอบ เปลือยกายเป็นวัตรเอาอย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯ เปลือยกายทำกิจแก่กัน เช่น ไหว้ รับไหว้ ทำบริกรรม ให้ของ รับของ และเปลือยกายในเวลาฉัน ในเวลาดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ ฯ


ถาม ในบาลีแสดงเหตุนิสัยจะระงับจากอุปัชฌาย์ไว้เท่าไร ? อะไรบ้าง ?

ตอบ แสดงไว้ 5 ประการ ฯ คือ อุปัชฌาย์หลีกไปเสีย 1 สึกเสีย 1 ตายเสีย 1 ไปเข้ารีตเดียรถีย์ 1 สั่งบังคับ 1 ฯ


ถาม ภิกษุผู้ได้ชื่อว่า วตฺตสมฺปนฺโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร วัดตรคืออะไร ? มีอะไรบ้าง ?

ตอบ วัตรคือแบบอย่างอันภิกษุควรประพฤติในกาลนั้น ๆ ในที่นั้น ๆ ในกิจนั้น ๆ แก่บุคคลนั้น ๆ ฯ มี

  1. กิจวัตร ว่าด้วยกิจอันควรทำ
  2. จริยาวัตร ว่าด้วยมารยาทอันควรประพฤติ
  3. วิธิวัตร ว่าด้วยแบบอย่าง

ถาม คารวะ คืออะไร ? การลุกขึ้นยืนรับเป็นกิจที่ผู้น้อยพึงทำแก่ผู้ใหญ่ แต่ควรเว้นในเวลาเช่นใดบ้าง ?

ตอบ คารวะ คือ กิริยาที่แสดงอาการอ่อนน้อมโดยสมควรแก่กาล สถานที่ กิจ และบุคคล ฯ ควรเว้นในเวลานั่งอยู่ในสำนักของผู้ใหญ่ ไม่ลุกรับผู้น้อยกว่าท่าน ในเวลานั่งเข้าแถวในบ้าน ในเวลาเข้าประชุมสงฆ์ในอาราม ฯ


ถาม ในวัดที่ไม่มีภิกษุผู้ทรงจำปาติโมกข์ได้จนจบ ถึงวันอุโบสถ สวดเท่าที่จำได้ แล้วชักสุตบท (สวดย่อ) โดยอ้างว่าเกิดเหตุฉุกเฉิน ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด ?

ตอบ สวดปาติโมกข์ย่อนั้น ถูกต้องแล้ว แต่จะอ้างว่าสวดย่อเพราะเกิดเหตุฉุกเฉินนั้น ไม่ถูกต้อง ฯ เพราะการสวดย่อเนื่องจากจำได้ไม่หมด ทรงอนุญาตไว้แผนกหนึ่งต่างหาก ไม่จัดเข้าในเหตุฉุกเฉิน 10 ประการ ฯ


ถาม สภาคาบัติ คืออาบัติเช่นไร ? ภิกษุต้องสภาคาบัติ จะพึงปฏิบัติอย่างไร ?

ตอบ สภาคาบัติ คือ อาบัติที่ภิกษุต้องวัตถุเดียวกัน เพราะล่วงละเมิดสิกขาบทเดียวกัน ฯ เมื่อภิกษุต้องสภาคาบัติ ห้ามไม่ให้แสดงอาบัตินั้นต่อกัน ห้ามไม่ให้รับอาบัติของกัน ให้แสดงในสำนักภิกษุอื่น ถ้าสงฆ์ต้องสภาคาบัติทั้งหมด ต้องส่งภิกษุรูปหนึ่งไปแสดงในที่อื่น ภิกษุที่เหลือจึงแสดงในสำนักของภิกษุนั้น ฯ


ถาม ภิกษุได้รับการสรรเสริญว่า กุลปสาทโก ผู้ยังตระกูลให้เลื่อมใส กับภิกษุผู้ได้รับการตำหนิว่า กุลทูสโก ผู้ประทุษร้ายตระกูล เพราะมีความประพฤติเช่นไร ?

ตอบ ภิกษุผู้ได้รับการสรรเสริญว่า กุลปสาทโก เพราะถึงพร้อมด้วยอาจาระ ไม่ทอดตนเป็นคนสนิทของสกุลโดยฐานเป็นคนเลว ไม่รุกรานตัดรอนเขา แสดงเมตตาจิต ประพฤติพอดีพองาม ทำให้เขาเลื่อมใสนับถือตน ส่วนภิกษุผู้ได้รับการตำหนิว่า กุลทูสโก ผู้ประทุษร้ายสกุล เพราะประพฤติให้เขาเสียศรัทธาเลื่อมใส ประจบเขาด้วยกิริยาทำตนอย่างคฤหัสถ์ ให้ของกำนัลแก่สกุลอย่างคฤหัสถ์เขาทำกัน ยอมตนให้เขาใช้สอย หรือด้วยการเอาเปรียบโดยเชิงให้สิ่งของเล็กน้อยด้วยหวังได้มาก ฯ


ถาม ผ้าบริขารโจล ได้แก่ผ้าเช่นไร ? การอธิษฐานด้วยกายกับการอธิษฐานด้วยวาจา ต่างกันอย่างไร ?

ตอบ ได้แก่ ผ้าที่ไม่ใช่ของใหญ่ถึงกับนุ่งห่มได้ เช่น ผ้ากรองน้ำ ถุงบาตร ย่าม ฯ การอธิษฐานด้วยกาย คือ การใช้มือจับหรือลูบบริขารที่จะอธิษฐานแล้วทำความผูกใจตามคำอธิษฐานนั้น ๆ ส่วนการอธิษฐานด้วยวาจา คือ การเปล่งคำอธิษฐานนั้น ๆ ไม่ถูกของด้วยกายก็ได้ ฯ


ถาม ผ้าต่อไปนี้ คือ สังฆาฏิ อันตรวาสก นิสีทนะ ผ้าอาบำน้ำฝน ผ้าเช็ดปาก ผ้าถุงบาตร ผืนใดที่ทรงอนุญาตให้อธิษฐานได้เพียงผืนเดียว ?

ตอบ สังฆาฏิ นิสีทนะ อันตรวาสก และผ้าอาบน้ำฝน ฯ