ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นโท พ.ศ. 2555

ถาม กัมมัฏฐานที่พระอุปัชฌาย์สอนแก่ผู้ขอบรรพชาอุปสมบทว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นั้น เรียกชื่อว่าอะไร ? เป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ?

ตอบ ชื่อว่า ตจปัญจกกัมมัฏฐาน หรือ มูลกัมมัฏฐาน ฯ เป็นได้ทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ


ถาม แสวงหาอะไรเป็นการแสวงหาอย่างประเสริฐ แสวงหาอะไรเป็นการแสวงหาไม่ประเสริฐ ?

ตอบ ในพระสูตรแสดงว่า แสวงหาสภาพอันมิใช่ของมีชรา พยาธิ มรณะ คือคุณธรรมมีพระนิพพานเป็นอย่างสูง เป็นการแสวงหาอย่างประเสริฐ เรียกว่าอริยปริเยสนา แสวงหาของมีชรา พยาธิ มรณะ เช่นหาของเล่น เป็นการแสวงหาไม่ประเสริฐ เรียกว่าอนริยปริเยสนา ฯ


ถาม ผู้มีอัตตาธิปเตยยะ กับผู้มีธัมมาธิปเตยยะ มีความมุ่งหมายในการทำงานต่างกันอย่างไร ?

ตอบ ผู้มีอัตตาธิปเตยยะปรารภภาวะของตนเป็นใหญ่ ทำด้วยมุ่งให้สมภาวะของตน ผู้ทำมุ่งผลอันจะได้แก่ตน หรือมุ่งความสะดวกแห่งตน ส่วนผู้มีธัมมาธิปเตยยะ ทำด้วยไม่มุ่งหมายอย่างอื่น เป็นแต่เห็นสมควรเห็นว่าถูกก็ทำ หรือทำด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นอาทิ ฯ


ถาม ญาณ 3 ที่เป็นไปในทุกขสัจ มีอธิบายอย่างไร ?

ตอบ มีอธิบายว่า

  1. ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขสัจ จัดเป็นสัจจญาณ
  2. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสัจเป็นสภาพที่ควรกำหนดรู้ จัดเป็นกิจจญาณ
  3. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสัจที่ควรกำหนดรู้ ได้กำหนดรู้แล้ว จัดเป็นกตญาณ

ถาม อปัสเสนธรรม (ธรรมเป็นที่พิง) ข้อที่ 2 ว่า พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่ง นั้นมีอธิบายอย่างไร ?

ตอบ มีอธิบายว่า อดกลั้นอารมณ์อันไม่เป็นที่เจริญใจ ต่างโดยหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ้อยคำเสียดแทง และทุกขเวทนาอันแรงกล้า ฯ


ถาม อริยวงศ์ คืออะไร ? มีกี่อย่าง ? ข้อที่ 4 ว่าอย่างไร ?

ตอบ อริยวงศ์ คือ ปฏิปทาของพระอริยบุคคลผู้เป็นสมณะ ฯ มี 4 อย่าง ฯ ข้อที่ 4 ว่า ยินดีในการเจริญกุศลและในการละอกุศล ฯ


ถาม ปัญจขันธ์ ได้ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเหตุไร ?

ตอบ เพราะปัญจขันธ์นั้น บางทีทำความลำบากให้ อันเป็นเหตุเบื่อหน่ายจนถึงฆ่าตัวตายเสียเองก็มี ฯ


ถาม สมาธิระดับไหน จึงจัดเป็นจิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต ?

ตอบ สมาธิทั้งที่เป็นอุปจาระทั้งที่เป็นอัปปนา โดยที่สุดขณิกสมาธิคือสมาธิชั่วขณะพอเป็นรากฐานแห่งวิปัสสนา จัดเป็นจิตตวิสุทธิ ฯ


ถาม สังฆคุณ 9 มีอะไรบ้าง ? จะย่นให้เหลือเพียง 2 ได้อย่างไร ?

ตอบ สังฆคุณ 9 มี

  1. สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
  2. อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
  3. ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม
  4. สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร
  5. อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของคำนับ
  6. ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ
  7. ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรของทำบุญ
  8. อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรทำอัญชลี [ประณมมือไหว้]
  9. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

สังฆคุณ 9 นั้น ย่นให้เหลือเพียง 2 ได้ดังนี้

  • ข้อ 1 ถึงข้อ 4 เป็นอัตตหิตคุณ คือคุณเกื้อกูลแก่ตนเอง
  • ข้อ 5 ถึงข้อ 10 เป็นปรหิตคุณ คือคุณเกื้อกูลแก่ผู้อื่น

ถาม กรรมที่บุคคลทำไว้ ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง ?

ตอบ ทำหน้าที่ คือ

  1. แต่ง (วิบาก) ให้เกิด เรียกว่า ชนกกรรม
  2. สนับสนุน (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปัตถัมภกกรรม
  3. บีบคั้น (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปปีฬกกรรม
  4. ตัดรอน (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปฆาตกกรรม