กระทู้ธรรม “อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม”

อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม
ได้ยินว่า ตนแลฝึกได้ยาก
บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป
ธรรมดามนุษย์เรามีความสามารถในการฝึกผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสัตว์ เช่น ฝึกช้าง ฝึกม้าไว้ใช้งาน ฝึกวัว ฝึกควาย ฝึกลิง บรรดามี มนุษย์เราสามารถฝึกได้ทั้งนั้น
หรือแม้แต่ฝึกคน คนเราฝึกกันได้ไม่ยากนัก ฝึกทหาร ฝึกตำรวจ ฝึก รด. เราฝึกคนอื่น หรือคนอื่นฝึกเรา เราคงผ่านมาแล้วกันทั้งนั้น
แต่สิ่งที่ยากนักยากหนาก็คือ การฝึกตนนี่แหละ ซึ่งหมายถึงการฝึกจิต ฝึกให้มันมั่นคงอยู่ในคุณงามความดี ฝึกให้มันไม่วอกแวกหวั่นไหวไปกับสิ่งชั่วช้าเลวทราม ฝึกไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส นี่แหละ ฝึกยากนักหนา
เพราะธรรมชาติของจิตเรานั้น มันมีปกติไหลลงต่ำเหมือนน้ำ ยินดีในสิ่งต่ำ ๆ อยู่ร่ำไป โดนกิเลสยั่วยุนิดหน่อยก็ไปแล้ว ไหลตามกิเลสไปแล้ว
เราต้องคอยประคับประคองมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้มันไหลลงสู่ที่ต่ำ และต้องใช้หลักธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาคอยยกมันให้สูงขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้ว มันก็จะไหลลงสู่อารมณ์ต่ำ ๆ อยู่ร่ำไป
เมื่อเราหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจของตนเองด้วยหลักธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เสมอ หมั่นปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอยู่เสมอ สามารถประคับประคองจิตใจไม่ให้โน้มเอียงไปตามอำนาจของกิเลสได้ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้มีตนอันฝึกแล้ว และจะได้แสงสว่างนำทางชีวิตที่ประเสริฐอย่างยิ่ง สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า
อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ
ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ
ธรรมดามนุษย์เราฝึกสัตว์ต่าง ๆ มีช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ก็เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นเชื่อง ใช้งานได้ ไม่พยศ ควบคุมได้ อยู่ในอำนาจของเรา
การฝึกตนก็เช่นกัน เราฝึกตน คือฝึกจิตของเราให้ละพยศ ไม่ให้หลงมัวเมาอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา ไม่ให้ถูกกิเลสตัณหาครอบงำได้
ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาน้้น เรามุ่งฝึกตนเพื่อให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทาน ทั้งหลายทั้งปวงได้ และให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดี อันจะเป็นตัวนำเราไปสู่สุคติภูมิ และบรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา นั่นคือพระนิพพาน
ที่ว่า “ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ” นั่นก็หมายความว่า เมื่อเราสามารถฝึกตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่หลงมัวเมาในอำนาจของกิเลสตัณหา ตนที่ฝึกดีแล้วนี่แหละ จะนำพาเราไปสู่หนทางแห่งความเจริญ ประดุจแสงสว่างที่ส่องทางให้เราเดินฉะนั้น
เพราะเมื่อเราฝึกตนตามแนวทางแห่งศีลธรรมอันดีงาม ย่อมจะเกิดปัญญาขึ้นมา และตัวปัญญานี่เองคือแสงสว่างที่ยอดเยี่ยมในโลก เมื่อฝึกตนด้วยดีมีปัญญาก่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราย่อมจะรู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ รู้ว่าทางไหนควรเดิน ทางไหนไม่ควรเดิน
เปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางวัน มีแสงสว่างทำให้มองเห็นโดยทั่วไป ย่อมสามารถรู้ได้ว่าตรงไหนเดินได้ ตรงไหนเดินไม่ได้ ทางไหนดี ทางไหนไม่ดี
หรือเปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางคืน แต่มีไฟฉายอยู่ในมือ ย่อมสามารถใช้ไฟฉายส่องเพื่อสำรวจตรวจตราดูว่าทางไหนควรเดินทางไหนไม่ควรเดิน และสามารถเดินไปได้อย่างถูกทางและปลอดภัย
อันนี้เป็นลักษณะของคนที่ฝึกตนจนเกิดปัญญาเป็นแสงสว่างทำทางชีวิต ย่อมนำพาชีวิตของตนเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้
สรุปความว่า ตนเอง คือตัวเราเองนี้ เป็นสิ่งที่ฝีกได้ยากที่สุดในโลก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เราเกิดมามีกิเลสตัณหาติดตัวมาด้วย และตัวกิเลสตัณหานี่แหละจะคอยควบคุมชักจูงเราให้ทำความชั่วต่าง ๆ นานา การที่เราจะฝึกตัวเองให้ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลสตัณหาเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากนัก เพราะต้องใช้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าต่อสู้ห้ำหั่นกับกิเลสตัณหา และต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมาก แต่เมื่อเราสามารถฝึกตนได้สำเร็จแล้ว ตนที่ฝึกฝนดีแล้วนี่แหละ จะเป็นแสวงสว่างนำทางชีวิตที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเอง สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า
อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม
ได้ยินว่า ตนแลฝึกได้ยาก
ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
