ยทตฺตครหี ตทกุพฺพมาโน “ติตนเองเพราะเหตุใด ไม่ควรทำเหตุนั้น”

ยทตฺตครหี ตทกุพฺพมาโน.

[คำอ่าน : ยะ-ทัด-ตะ-คะ-ระ-หี, ตะ-ทะ-กุบ-พะ-มา-โน]

“ติตนเองเพราะเหตุใด ไม่ควรทำเหตุนั้น”

(ขุ.สุ. 25/486)

พุทธศาสนาสอนให้เราหมั่นคอยสำรวจตนเอง เพื่อให้เห็นข้อบกพร่องของตนเอง เมื่อเห็นข้อบกพร่องแล้วก็คอยเตือนตนเอง ถ้าเผลอทำสิ่งที่ผิด ก็ต้องคอยตำหนิตนเอง

เมื่อทำสิ่งใดก็ตามลงไปแล้ว เป็นเหตุให้ตนเองสามารถติเตียนตนเองได้ แสดงว่าสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ว่าจะเป็น ผิดศีลธรรม ผิดกฏหมายบ้านเมือง เป็นต้น

เมื่อพิจารณาได้แล้วว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ก็ไม่ควรทำสิ่งนั้นอีก เพราะมันเป็นสาเหตุที่ทำให้เราติเตียนตนเองได้ เมื่อแม้แต่เรายังติเตียนตนเองได้เพราะการกระทำนั้น ก็ย่อมแสดงว่า การกระทำนั้นเป็นสิ่งไม่ดี และคนอื่นก็ย่อมติเตียนการกระทำเช่นนั้นได้เหมือนกัน

การคอยสำรวจตนเองเพื่อให้เห็นข้อผิดพลาด นับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ก็ทำได้ยากพอสมควร เพราะธรรมชาติของมนุษย์ ชอบมองคนอื่นมากกว่าตนเอง คือคอยจับผิดคนอื่นมากกว่าจับผิดตนเอง ก็เลยเสียเวลากับเรื่องของคนอื่นเสียมากกว่า

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว หันมาคอยสำรวจตนเอง คอยจับผิดตนเอง หาข้อผิดพลาดของตนเอง เพื่อแก้ไขให้ดีขึ้น ย่อมจะมีประโยชน์มากกว่าเป็นอันมากเลยทีเดียว