กระทู้ธรรม “โย รกฺขติ อตฺตานํ รกฺขิโต ตสฺส พาหิโร”

กระทู้ธรรม "โย รกฺขติ อตฺตานํ รกฺขิโต ตสฺส พาหิโร"

โย รกฺขติ อตฺตานํ รกฺขิโต ตสฺส พาหิโร

ผู้ใดรักษาตนได้แล้ว ภายนอกของผู้นั้นก็เป็นอันรักษาด้วย

บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป

คำว่า “ตน” แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนจิต และ ส่วนกาย

คำว่า “ตน” ในที่นี้หมายถึง ตนภายใน คือ ส่วนจิต ซึ่งเป็นส่วนควบคุมตนภายนอกคือส่วนกายอีกที

คำว่า “รักษาตน” ก็หมายถึง การรักษาจิตของตนเองให้มั่นคงอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่หวั่นไหวคลอนแคลนไปตามอำนาจของกิเลส คือคุ้มครองรักษาจิตด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ด้วยหลักกรรมฐาน ไม่ให้กิเลสครอบงำจิตใจได้

เมื่อบุคคลมีการรักษาตนภายในคือจิตด้วยดีดังกล่าวแล้ว ก็จะไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส ไม่กระทำกรรมใด ๆ ไปตามคำสั่งของกิเลส มีจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เมื่อคิดจะทำอะไรก็คิดแต่ในทางที่เป็นกุศล เป็นสุจริตกรรม

เมื่อจิตใจใสสะอาดดังกล่าวแล้ว เวลาจิตสั่งการให้ตนภายนอกคือส่วนกายกระทำการใด ๆ ย่อมเป็นไปในทางที่เป็นกุศลเท่านั้น การกระทำ และการพูด ก็จะเป็นกายสุจริต วจีสุจริต เพราะออกมาจากมโนสุจริต นั่นเอง

ดังนั้น คำว่า “ผู้ใดรักษาตนได้แล้ว ภายนอกของผู้นั้นก็เป็นอันรักษาด้วย” จึงหมายความว่า ผู้ที่รักษาจิตใจของตนให้เป็นจิตใจที่ดีงาม ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ย่อมได้ชื่อว่ารักษาตนภายนอกคือส่วนกายด้วย เพราะเมื่อกายทำกรรมใด ๆ ก็ย่อมเป็นสุจริตกรรมตามจิตที่สั่งการที่เป็นมโนสุจริตนั่นเอง เพราะตนภายนอกคือกาย ย่อมทำกรรมทุกอย่างที่ตนภายในคือจิตสั่งการ สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า

จิตฺเตน นียตี โลโก

โลกอันจิตย่อมนำไป

คำว่า “โลก” หมายถึง สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ย่อมถูกจิตชักจูงไป จะทำดีก็เพราะจิตชักจูงให้ทำ จะทำชั่วก็เพราะจิตชักจูงให้ทำ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปสู่สุคติหรือทุคติ ก็จิตนี่แหละเป็นตัวนำไป

โบราณท่านกล่าวไว้ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” คือไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราทำตามอำนาจของจิต จิตเป็นตัวสั่งการ กายเป็นผู้ตอบสนอง คือทำทุกอย่างตามที่จิตสั่ง

จิตสั่งให้ทำดี กายก็ทำดี จิตสั่งให้ทำชั่ว กายก็ทำชั่ว เหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า โลกอันจิตย่อมนำไป

เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว คือเมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว ก็ต้องไปสู่สุคติบ้าง ทุคติบ้าง ตามอำนาจของกรรมที่ทำมา ก็จิตนี่แหละเป็นตัวนำไป

คนที่ฝึกจิตดี ไม่ให้จิตตกอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง จะทำให้จิตสะอาด ปราศศจากมลทิน เมื่อจิตสะอาดแล้ว ย่อมสั่งการให้กายทำแต่กรรมที่สะอาด คือกรรมอันเป็นฝ่ายสุจริตนั่นเอง เมื่อทำแต่กรรมที่เป็นฝ่ายสุจริต ก็ย่อมได้รับผลดีอันเกิดจากสุจริตกรรมนั้นอย่างแน่นอน

สรุปความว่า ชาวโลกทั้งหลายถูกจิตนำไป คือ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว สภาพจิตเป็นอย่างไร การกระทำทางกายก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้น การฝึกจิตหรือการคุ้มครองรักษาจิตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราต้องรักษาจิตให้อยู่ในศีลธรรมอันดี เราต้องคุ้มครองจิตไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ เมื่อตนภายในคือจิตได้รับการคุ้มครองรักษาด้วยดี การแสดงออกภายนอกย่อมเป็นไปในทิศทางที่ดี เป็นกิริยามารยาทที่เรียบร้อยดีงาม สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า

โย รกฺขติ อตฺตานํ รกฺขิโต ตสฺส พาหิโร

ผู้ใดรักษาตนได้แล้ว ภายนอกของผู้นั้นก็เป็นอันรักษาด้วย

ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.



You may also like...