กระทู้ธรรม “อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ”

อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ
ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ
บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป
ธรรมดามนุษย์เราฝึกสัตว์ต่าง ๆ มีช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ก็เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นเชื่อง ใช้งานได้ ไม่พยศ ควบคุมได้ อยู่ในอำนาจของเรา
การฝึกตนก็เช่นกัน เราฝึกตน คือฝึกจิตของเราให้ละพยศ ไม่ให้หลงมัวเมาอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา ไม่ให้ถูกกิเลสตัณหาครอบงำได้
ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาน้้น เรามุ่งฝึกตนเพื่อให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทาน ทั้งหลายทั้งปวงได้ และให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดี อันจะเป็นตัวนำเราไปสู่สุคติภูมิ และบรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา นั่นคือพระนิพพาน
ที่ว่า “ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ” นั่นก็หมายความว่า เมื่อเราสามารถฝึกตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่หลงมัวเมาในอำนาจของกิเลสตัณหา ตนที่ฝึกดีแล้วนี่แหละ จะนำพาเราไปสู่หนทางแห่งความเจริญ ประดุจแสงสว่างที่ส่องทางให้เราเดินฉะนั้น
เพราะเมื่อเราฝึกตนตามแนวทางแห่งศีลธรรมอันดีงาม ย่อมจะเกิดปัญญาขึ้นมา และตัวปัญญานี่เองคือแสงสว่างที่ยอดเยี่ยมในโลก เมื่อฝึกตนด้วยดีมีปัญญาก่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราย่อมจะรู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ รู้ว่าทางไหนควรเดิน ทางไหนไม่ควรเดิน
เปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางวัน มีแสงสว่างทำให้มองเห็นโดยทั่วไป ย่อมสามารถรู้ได้ว่าตรงไหนเดินได้ ตรงไหนเดินไม่ได้ ทางไหนดี ทางไหนไม่ดี
หรือเปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางคืน แต่มีไฟฉายอยู่ในมือ ย่อมสามารถใช้ไฟฉายส่องเพื่อสำรวจตรวจตราดูว่าทางไหนควรเดินทางไหนไม่ควรเดิน และสามารถเดินไปได้อย่างถูกทางและปลอดภัย
อันนี้เป็นลักษณะของคนที่ฝึกตนจนเกิดปัญญาเป็นแสงสว่างทำทางชีวิต ย่อมนำพาชีวิตของตนเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ อีกอย่างหนึ่ง คนที่ฝึกดีแล้วนี่แหละ จะเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของเราทั้งในภพนี้และภพหน้า สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
ผู้มีตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก
ที่พึ่ง หมายถึง บุคคล สถานที่ หรือสิ่งของ ที่จะช่วยให้เราทำกิจต่าง ๆ สำเร็จได้โดยง่าย เช่น พ่อแม่ เป็นที่พึ่งให้เราในขณะที่เราเป็นเด็ก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่คอยช่วยเหลือเราทุกสิ่งทุกอย่าง
ครูอาจารย์ คอยช่วยเหลือเราโดยการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เราได้มีความรู้เพื่อการดำเนินชีวิต มีสติปัญญา รู้เท่าทันคน รู้เท่าทันโลก มีวิชาในการประกอบอาชีพ
เพื่อน เป็นที่พึ่งให้เราได้บ้างในบางโอกาส คอยช่วยเหลือเราให้ทำกิจบางอย่างสำเร็จลุล่วงได้
เรามีบ้านเรือนเป็นที่พึ่งในการพักพาอาศัย หลบแดดหลบฝน เป็นที่หลับนอน เป็นต้น
ที่พึ่งทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นที่พึ่งภายนอก เป็นที่พึ่งที่ไม่ยั่งยืน เป็นที่พึ่งธรรมดาสามัญ ยังไม่มีอะไรพิเศษ
แต่มีที่พึ่งอีกประเภทหนึ่งที่จัดว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ คือ บุญกุศล คุณงามความดี อันจะพาเราให้ประสพพบเจอแต่สิ่งดีงาม และพาเราไปสู่ภพภูมิที่ดีในวาระสุดท้ายของชีวิต
และที่พึ่งสูงสุดที่ได้ยากยิ่งนักก็คือ มรรคผลนิพพาน อันเป็นที่พึ่งสูงสุด เป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะที่พึ่งคือมรรคผลนิพพานนี้ จะเป็นสิ่งที่ป้องกันเราจากอบายภูมิได้เป็นอย่างดี
แต่การที่เราจะได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากนี้ เราต้องฝึกตนเสียก่อน ฝึกตนให้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง ฝึกตนให้ออกจากอบายมุขทั้งปวง ฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฝึกตนให้เป็นผู้ตั้งมั่นในศีลธรรม และฝึกตนให้เป็นผู้หมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
เมื่อฝึกตนให้ได้ดังกล่าวมานี้แล้ว จึงจะได้ที่พึ่งอันประเสริฐที่ได้โดยยาก นั่นคือ มรรค ผล นิพพาน
สรุปความว่า การฝึกตนเองให้เป็นผู้มั่นคงอยู่ในศีลธรรมอันดี ด้วยการละเว้นการกระทำอันเป็นบาปทั้งหลาย หมั่นสั่งสมอบรมคุณงามความดีทุกประการ ชำระจิตใจของตนให้สะอาดผ่องใสจากอกุศลทั้งปวงอยู่เสมอ จะเป็นการสร้างแสงสว่างให้แก่ชีวิต เป็นแสงสว่างที่นำทางไปสู่คุณงามความดีในระดับที่สูงขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงมรรค ผล นิพพาน อันเป็นที่พึ่งสูงสุดในพุทธศาสนาซึ่งหาที่พึ่งอื่นเทียบเทียมมิได้ สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า
อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ
ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ
ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
