กระทู้ธรรม “อตฺตนา โจทยตฺตานํ”

กระทู้ธรรม "อตฺตนา โจทยตฺตานํ"

อตฺตนา โจทยตฺตานํ

จงเตือนตนด้วยตนเอง

บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป

การเตือนตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ดี และควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำ จะพูด จะคิด อะไรก็ตาม ถ้าเราคอยสอดส่องตัวเองอยู่เสมอ เราจะรู้เท่าทัน และยับยั้งการกระทำที่เป็นโทษได้

หากเราคอยเพ่งโทษคนอื่น คอยจับผิดคนอื่น เราก็จะเห็นโทษของคนอื่น เห็นความผิดพลาดของคนอื่น แต่เราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการที่เห็นความผิดของคนอื่น มิหนำซ้ำยังจะก่อให้เกิดความขัดเคือง เกิดปฏิฆะ ขึ้นมาในใจของตนเองอีกด้วย เรียกได้ว่า เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

แต่หากเราคอยเพ่งโทษตนเอง คอยจับผิดตนเอง เราก็จะเห็นโทษของตนเอง เห็นข้อผิดพลาดของตนเอง เห็นข้อบกพร่องของตนเอง เมื่อเห็นแล้วเราก็จะสามารถนำข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องนั้นมาหาแนวทางแก้ไข สามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้

จะเห็นได้ว่า การเพ่งโทษตนเอง และคอยเตือนตนเองนั้น เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์กว่าการที่จะไปคอยเพ่งโทษคนอื่นมากมายเลยทีเดียว การคอยเตือนตนเองอยู่เป็นประจำ จะทำให้เราได้ฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ ซึ่งเป็นวิถีที่บัณฑิตชนคนดีทั้งหลายดำเนิน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน ขุททกนิกาย เถรคาถา ว่า

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา

บัณฑิต ย่อมฝึกตน

คำว่า “บัณฑิต” แปลว่า ผู้ฉลาด มีปัญญา มีความรอบรู้ หมายถึง นักปราชญ์ ธีรชน ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

คำว่า “ฝึก” หมายถึง ทำให้เรียบ ทำให้ละพยศ ทำให้ตรง ทำให้ชำนาญ

พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ ท่านหมายเอาเนื้อความว่า คนที่ฉลาดนั้นย่อมหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ

ถ้าในด้านหน้าที่การงานก็จะหมายเอาการฝึกฝนความชำนาญในงานของตนให้คล่องแคล่วและพัฒนาอยู่เสมอ เป็นต้น

แต่ในแง่ของทางธรรมนั้น ท่านหมายเอาการฝึกตนให้เป็นคนมีศีลธรรม มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีปัญญาเข้าใจชีวิตเข้าใจโลกตามความเป็นจริง

ฝึกตนให้ดำรงอยู่ในกุศลกรรมบถทั้ง 10 ประการ เพื่อให้เป็นคนดีศรีสังคม สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและส่วนรวม บำเพ็ญประโยชน์ได้ทั้งประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

และที่สำคัญที่สุดก็คือ การฝึกขัดเกลาจิตใจของตนเองให้สะอาดปราศจากมลทินคือกิเลสตัณหาอยู่เสมอ ไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจของตนได้ อันเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา

สรุปความว่า การเตือนตนเองด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ชาวโลกทั้งหลายพึงกระทำ เพราะการเตือนตนนั้น มีประโยชน์กว่าการคอยเตือนคนอื่นมากมายนัก เพราะการที่เราคอยเพ่งโทษตนเองและคอยเตือนตนเองในสิ่งที่ยังขาดตกบกพร่อง จะช่วยให้เราได้ปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นคนที่ดีกว่าเดิม ได้ฝึกฝนตนเองให้เป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม เป็นการดำเนินตามวิถีของบัณฑิต เมื่อเราสามารถเตือนตนเองได้ ปรับปรุงฝึกฝนตนเองได้ ก็จะไม่มีข้อผิดพลาดให้คนอื่นต้องคอยตักเตือน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า

อตฺตนา โจทยตฺตานํ

จงเตือนตนด้วยตนเอง

ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.



You may also like...