ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโน ว กุญฺชโร

ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโน ว กุญฺชโร.

[คำอ่าน : ทุก-คา, อุด-ทะ-ระ-ถัด-ตา-นัง, ปัง-เก, สัน-โน, วะ, กุน-ชะ-โร]

“จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างตกหล่มถอนตนขึ้นฉะนั้น”

(ขุ.ธ. 25/58)

คำว่า “หล่ม” ในที่นี้ คือ กิเลส ตัณหา ท่านเปรียบกิเลสตัณหาเหมือนกับหล่ม เพราะถ้าถูกกิเลสตัณหาครอบงำ ก็เหมือนกับช้างที่ตกหล่ม ย่อมจะบ่ายหน้าสู่ความวิบัติถ่ายเดียว

ช้างที่ตกหล่มคือตกลงไปในบ่อโคลน ย่อมต้องตะเกียกตะกายด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมดที่มี เพื่อขึ้นจากหล่มเสียให้ได้ เพราะมันย่อมรู้ดีว่า ถ้าไม่สามารถขึ้นจากหล่มได้ มันจะต้องตายไปในที่สุด ดังนั้น มันจะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้พ้นจากหล่มนั้นให้ได้

คนเราก็เหมือนกัน เราตกอยู่ในวงล้อมของกิเลสตัณหา เพราะโลกในปัจจุบันนี้ มีสิ่งยั่วยุเป็นจำนวนมาก ทำให้เราลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในกิเลสตัณหา

ผู้ฉลาดย่อมพิจารณาเห็นว่า การตกอยู่ในวงล้อมของกิเลสตัณหานั้น ก็เปรียบเหมือนช้างที่ตกอยู่ในหล่ม ถ้าไม่รีบตะเตียกตะกายขึ้นจากหล่ม จะต้องตายจมบ่อโคลนอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว จงรีบหาวิธีทำให้ตนพ้นจากวงล้อมของกิเลสตัณหาเสียให้ได้ โดยการประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หมั่นบำเพ็ญทาน ศีล และภาวนา พร้อมทั้งดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ

ถ้าจะตายจริง ๆ ก็ขอให้ตายโดยปราศจากกิเลสตัณหา อย่าให้ตายไปพร้อมกับกิเลสตัณหาเลย