กระทู้ธรรม “ททํ ปิโย โหติ ภชนฺติ นํ พหู”

กระทู้ธรรม "ททํ ปิโย โหติ ภชนฺติ นํ พหู"

ททํ ปิโย โหติ ภชนฺติ นํ พหู

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบเขา

บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป

ผู้ให้ คือ ผู้เสียสละบริจาคแบ่งปันสิ่งของของตนให้แก่ผู้อื่น เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยปรารถนาให้เขาได้พ้นจากทุกข์นั้น ๆ การเป็นผู้ให้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่พึงให้เพื่อหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หวังให้ชื่อเสียงของตนปรากฏ หวังที่จะให้ผู้นั้นให้สิ่งของตอบแทนแก่ตนบ้าง เป็นต้น

จิตใจที่บริสุทธิ์ยังประกอบด้วยเมตตากรุณา กล่าวคือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ลักษณะดังที่กล่าวมานี้ ย่อมส่งผลให้ผู้ปฏิบัติเป็นที่รัก เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั้งหลาย เมื่อถึงคราวตกทุกข์ได้ยาก คนทั้งหลายย่อมช่วยเหลือเขาตอบแทนบ้าง เพราะเหตุที่เขาเป็นคนที่มีน้ำใจไมตรี มีความเสียสละแบ่งปันนั่นเอง

ผู้ให้ เมื่อจะให้ก็ควรเลือกให้แต่สิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกที่ควรและเหมาะสมต่อผู้รับ กล่าวคือ ให้สิ่งของที่ปราศจากโทษ ไม่มีพิษมีภัย และไม่ผิดศีลธรรม ซึ่งเป็นเหตุนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้ ทั้งแก่ตัวผู้ให้และผู้รับ สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน ขุททกนิกาย ชาดก สัตตกนิบาต ว่า

ทเทยฺย ปุริโส ทานํ

คนควรให้ของที่ควรให้

ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้วว่า สิ่งของที่เลือกสรรดีแล้ว เป็นสิ่งของที่ปราศจากโทษ ไม่มีพิษมีภัย ไม่ผิดศีลธรรม เป็นต้น เป็นของที่ควรให้ เป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ มีคุณค่า ย่อมนำมาซึ่งความสุข ทั้งแก่ผู้ให้ ผู้รับ และบุคคลอื่น สิ่งของที่ควรมอบให้แก่กันเพื่อสงเคราะห์กันที่มีประโยชน์อย่างชัดเจนก็คือปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

สิ่งของที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งของที่เหมาะสมแก่การให้ เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ผู้รับ เป็นไปเพื่อความอนุเคราะห์ต่อปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่นนี้จึงเรียกว่า ให้สิ่งของที่ควรให้

สรุปความว่า ผู้ให้คือผู้เสียสละ บริจาค แบ่งปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น โดยเป็นสิ่งของที่เลือกสรรดีแล้ว เป็นสิ่งที่ปราศจากโทษ ไม่มีพิษมีภัย ไม่ผิดศีลธรรม ล้วนเป็นสิ่งของที่ควรให้ ซึ่งจะนำประโยชน์สุขมาให้แก่ผู้รับ เมื่อผู้ให้ให้ด้วยลักษณะดังกล่าวมานี้ ก็ย่อมเป็นที่รักที่นับถือของบุคคลทั้งหลาย สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า

ททํ ปิโย โหติ ภชนฺติ นํ พหู

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบเขา

ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.



You may also like...