กระทู้ธรรม “ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย”

ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย
ความสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้
บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป
คำาว่า “บาป” หมายถึง ความชั่ว ความเลวร้าย ความไม่ดี กล่าวคือ การกระทำที่ทำให้ผู้ทำได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น การสะสมบาป จึงเป็นการประพฤติธรรมฝ่ายอกุศลกรรม คือการประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ นั่นเอง ซึ่งเมื่อสะสมไปทีละเล็กละน้อย ย่อมจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เปรียบเหมือนการที่ฝนตกใส่โอ่งน้ำวันละเล็กวันละน้อยแล้ววันหนึ่งก็เต็มโอ่งได้ฉะนั้น
การอุปมาเช่นนี้จึงเปรียบเหมือนกับคนที่สั่งสมความชั่วคือบาป โดยการทำทุก ๆ วัน บาปก็ย่อมสั่งสมทวีคูณขึ้น จนบุคคลนั้นเป็นคนที่มีจิตใจหยาบช้า จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูกหรือผิด กล่าวคือ ขาดปัญญาหยั่งรู้บาปบุญคุณโทษ
และเมื่อจิตใจไม่มีความเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมสามารถทำความชั่วที่หนัก ๆ ขึ้นได้ทุกอย่าง ถึงขั้นที่ทำกรรมชั่วหนัก ๆ เป็นเหตุให้ผิดกฎหมายจนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าจับกุม ซึ่งกรรมเหล่านี้นับว่าเป็นกรรมที่เห็นได้ทันตา กรรมที่จะได้รับนั้นไม่ได้มีแค่นี้ กรรมอันเป็นบาปที่เราได้กระทำนั้น ยังส่งผลไปถึงอนาคตคือในสัมปรายภาพข้างหน้าด้วย
จะเห็นได้ว่า การทำบาปนั้น เท่ากับสะสมทุกข์ ทำให้ผู้กระทำได้รับทุกข์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเราเห็นว่า การทำบาปนั้นนำความทุกข์มาให้แล้ว เราก็ควรประพฤติตัวให้ดี ๆ คือ ทำแต่ความถูกต้องดีงามตามทำนองคลองธรรม เช่น การรักษาศีลให้บริบูรณ์ เป็นต้น แค่นี้ก็นับว่าเป็นการไม่ทำบาปแล้ว เพราะว่าศีลเป็นอุบายที่ไม่ให้เราทำความชั่วนั่นเอง และเมื่อเรามีศีลเราก็จะมีแต่ความสุขความเจริญตราบวัยชรา สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
สุขํ ยาว ชรา สีลํ
ศีลนำความสุขมาให้ตราบเท่าชรา
ศีล คือ การประพฤติกายและวาจาให้เรียบร้อย การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยนั้น เป็นข้อที่ควรปฏิบัติของบุคคลสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในคุณงามความดี เมื่อบุคคลมีศีล ย่อมนับว่าเป็นคนที่มีกายและวาจาเรียบร้อย มีความระมัดระวังไม่ให้ทำความชั่วทางกายทุจริตและทางวจีทุจริต กล่าวคือ ทางกายทุจริต เป็นเครื่องไม่ให้กระทำการทำร้ายหรือฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ให้ลักทรัพย์ของผู้อื่นที่เขาไม่ได้ให้ และไม่ให้ประพฤติผิดในกาม ส่วนทางวจีทุจริตนั้น ย่อมเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้พูดคำเท็จ คำส่อเสียด คำหยาบคาย และคำเพ้อเจ้อ
นอกจากนี้ คนที่มีศีลย่อมเป็นคนที่มีจิตใจเยือกเย็น มีระเบียบเรียบร้อย จะทำอะไร จะพูดอะไร ก็ประกอบไปด้วยสติ มีความสุขุมรอบคอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนจะนำประโยชน์มาให้แก่ผู้ประพฤติรักษาศีล ดังนั้น การที่เป็นคนรักษาศีล ย่อมทำให้เป็นที่รักของคนทั้งหลายที่พบเห็น จะไปไหนก็มีแต่ผู้คนรักใคร่ ทำอะไรก็สำเร็จได้โดยง่าย นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ความสุขส่วนหนึ่ง ของผู้รักษาศีล
ศีลเป็นพื้นฐานอัธยาศัยของผู้ปฏิบัติให้มีความบริสุทธิ์ ผ่องใส และประณีตยิ่งขึ้นโดยลำดับ หรือเรียกตามภูมิธรรมอันเป็นรากฐานแห่งคุณธรรมที่สูงขึ้น และยังนำความสุขมาให้แก่ผู้ปฏิบัติตาม ดังตัวอย่างข้างต้น
สุขที่เกิดจากการรักษาศีลมีมากมาย ศีลนั้นก็มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 เป็นต้น บุคคลควรรักษาศีลให้สมกับสภาวะของตนและกำลังของตน เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้คือตามศีลที่กำหนดไว้นั้น ชีวิตก็ย่อมประสบพบเจอแต่ความสุขความเจริญ
สรุปความว่า ศีลเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้จิตใจเราตกไปในทางที่ไม่ดี ทำให้เรานั้นมีแต่ความสุขความเจริญ ทำการงานอะไรก็สำเร็จได้โดยง่าย เพราะการที่มีศีลก็จะทำให้มีสติด้วย จะไปในที่ใดก็มีแต่คนรักใคร่ ให้ความเคารพนับถือ ฉะนั้น เมื่อเรารู้ว่าศีลมีแต่คุณประโยชน์อย่างนี้ ก็ควรจะรักษาศีลให้บริบูรณ์ตามสภาวะของตน ไม่ควรทำบาปหรือสิ่งที่ไม่ดี ผู้ที่กลัวจะเป็นทุกข์ก็ควรละบาปแล้วประพฤติรักษาศีล เพราะว่าศีลนั้นนำความสุขมาให้ตราบกาลนาน ส่วนการสะสมบาปนั้น รังแต่จะนำความทุกข์มาให้ สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า
ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย
ความสั่งสมบาป นำทุกข์มาให้
ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
