กระทู้ธรรม “อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย”

กระทู้ธรรม "อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย"

อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย

ไม่ควรพร่าประโยชน์ตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก

บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป

คำว่า “ประโยชน์” หมายถึง สิ่งที่พึงได้พึงถึง มี 3 อย่าง คือ

  1. ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในโลกนี้
  2. สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ในโลกหน้า
  3. ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

คำว่า “ประโยชน์” ในพุทธศาสนสุภาษิตนี้ หมายถึง ประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน ได้แก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อเป้าหมายอันสูงสุดคือพระนิพพาน

การที่ท่านสอนว่า ไม่ควรพร่าประโยชน์ตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก ไม่ได้หมายความว่าจะสอนให้เราเป็นคนเห็นแก่ตัว

พุทธศาสนาสอนให้เรามีจิตสาธารณะ บำเพ็ญทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สมบูรณ์ คือประโยชน์ของตนก็ไม่ให้เสีย ประโยชน์ส่วนรวมก็ไม่ให้เสียเช่นกัน

แต่มียกเว้นอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าหากจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ท่านถือว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมของตน ถึงแม้ว่าจะต้องละทิ้งประโยชน์ส่วนรวมก่อนก็ไม่เป็นไร หากมีใจมุ่งตรงต่อพระนิพพานและตั้งใจปฏิบัติกรรมฐานอย่างแท้จริง เพราะนี่คือประโยชน์ที่เหนือกว่าประโยชน์ทั้งปวง

ให้บำเพ็ญประโยชน์อย่างยิ่งนี้ให้สำเร็จลุล่วงเสียก่อนค่อยมาบำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวมก็ยังไม่สาย การบำเพ็ญปรมัตถะนี้ ถือเป็นการฝึกตนที่บัณฑิตสรรเสริญ เพราะเป็นการสร้างแสวงสว่างนำทางชีวิตให้กับตนเอง สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า

อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ

ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ

ธรรมดามนุษย์เราฝึกสัตว์ต่าง ๆ มีช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ก็เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นเชื่อง ใช้งานได้ ไม่พยศ ควบคุมได้ อยู่ในอำนาจของเรา

การฝึกตนก็เช่นกัน เราฝึกตน คือฝึกจิตของเราให้ละพยศ ไม่ให้หลงมัวเมาอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา ไม่ให้ถูกกิเลสตัณหาครอบงำได้

ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาน้้น เรามุ่งฝึกตนเพื่อให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทาน ทั้งหลายทั้งปวงได้ และให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดี อันจะเป็นตัวนำเราไปสู่สุคติภูมิ และบรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา นั่นคือพระนิพพาน

ที่ว่า “ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ” นั่นก็หมายความว่า เมื่อเราสามารถฝึกตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่หลงมัวเมาในอำนาจของกิเลสตัณหา ตนที่ฝึกดีแล้วนี่แหละ จะนำพาเราไปสู่หนทางแห่งความเจริญ ประดุจแสงสว่างที่ส่องทางให้เราเดินฉะนั้น

เพราะเมื่อเราฝึกตนตามแนวทางแห่งศีลธรรมอันดีงาม ย่อมจะเกิดปัญญาขึ้นมา และตัวปัญญานี่เองคือแสงสว่างที่ยอดเยี่ยมในโลก เมื่อฝึกตนด้วยดีมีปัญญาก่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราย่อมจะรู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ รู้ว่าทางไหนควรเดิน ทางไหนไม่ควรเดิน

เปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางวัน มีแสงสว่างทำให้มองเห็นโดยทั่วไป ย่อมสามารถรู้ได้ว่าตรงไหนเดินได้ ตรงไหนเดินไม่ได้ ทางไหนดี ทางไหนไม่ดี

หรือเปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางคืน แต่มีไฟฉายอยู่ในมือ ย่อมสามารถใช้ไฟฉายส่องเพื่อสำรวจตรวจตราดูว่าทางไหนควรเดินทางไหนไม่ควรเดิน และสามารถเดินไปได้อย่างถูกทางและปลอดภัย

อันนี้เป็นลักษณะของคนที่ฝึกตนจนเกิดปัญญาเป็นแสงสว่างทำทางชีวิต ย่อมนำพาชีวิตของตนเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้

สรุปความว่า เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ควรบำเพ็ญประโยชน์ให้ครบถ้วน ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น เพราะเราอยู่ร่วมกันในสังคมหมู่มาก ต้องพึ่งพาช่วยเหลือกัน เราช่วยคนอื่นบ้าง คนอื่นช่วยเราบ้าง พึ่งพากันไป เป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่กันและกัน แต่หากผู้ใดมีใจมุ่งตรงต่อการปฏิบัติกรรมฐานเพื่อผลสูงสุดคือพระนิพพาน ท่านว่าสามารถแยกตัวออกมาปฏิบัติกรรมฐานเพื่อประโยชน์สูงสุดของตนได้เลย ไม่ถือเป็นการเห็นแก่ตัว เพราะประโยชน์ส่วนนี้เป็นประโยชน์สูงสุด หากสามารถบรรลุได้ ย่อมเป็นการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับตนเอง อีกทั้งยังสามารถสงเคราะห์ผู้อื่นได้ด้วย สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า

อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย

ไม่ควรพร่าประโยชน์ตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก

ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.



You may also like...