กระทู้ธรรม “อตฺตา หิ อตฺตโน คติ”

อตฺตา หิ อตฺตโน คติ
ตนเทียว เป็นคติของตน
บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป
คำว่า “ตน” หมายถึง กายและใจของเรานี่แหละ ที่รวมกันแล้วเป็นอัตภาพร่างกายที่สามารถทำ พูด คิด ประกอบกิจต่าง ๆ ได้
คำว่า “คติ” แปลว่า ที่ไป หรือ ทางไป แยกเป็น 2 อย่าง คือ
- สุคติ ทางไปที่ดี (มนุษย์โลก สวรรค์ 6 ชั้น พรหมโลก 16 ชั้น และพระนิพพาน)
- ทุคติ ทางไปที่ไม่ดี (นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน)
ทางทั้ง 2 ทางนั้น เราจะไปสู่ทางไหน ก็ขึ้นอยู่กับการสร้างกรรม ถ้าเราสร้างกรรมดี อันเป็นเหตุแห่งสุคติ เราก็จะได้ไปสู่สุคติ
แต่ถ้าเราสร้างกรรมชั่วช้าลามก อันเป็นเหตุแห่งทุคติ เราก็จะได้ไปสู่ทุคติ
และการสร้างกรรมนั้น แน่นอนว่าเราเองเป็นผู้ทำ เราใช้อัตภาพร่างกายของเรานี่แหละสร้างกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว กรรมที่เราสร้างไว้ทั้งหมดจะส่งผลให้เราไปสู่สุคติหรือทุคติ แล้วแต่ว่าทำกรรมดีหรือชั่วไว้มากกว่ากัน
และด้วยเหตุที่เราเป็นคนสร้างกรรมด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของคำว่า “ตนเทียว เป็นคติของตน” คือทางที่เราจะไปในสัมปรายภพ ไม่ว่าจะเป็นทางสุคติหรือทางทุคติก็ตาม เราเป็นคนกำหนดเอง เราเป็นคนสร้างเองทั้งสิ้น ทีนี้เราก็ต้องมาถามตัวเองดูว่า ระหว่างทางสุคติและทางทุคตินั้น เราอยากจะไปทางไหน
ถ้าคำตอบคือ “สุคติ” แล้วละก็ สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ การฝึกตน คือฝึกฝนอบรมตนเองให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี เพื่อสร้างแสงสว่างนำทางไปสู่สุคติให้กับตนเอง สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า
อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ
ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ
ธรรมดามนุษย์เราฝึกสัตว์ต่าง ๆ มีช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ก็เพื่อให้สัตว์เหล่านั้นเชื่อง ใช้งานได้ ไม่พยศ ควบคุมได้ อยู่ในอำนาจของเรา
การฝึกตนก็เช่นกัน เราฝึกตน คือฝึกจิตของเราให้ละพยศ ไม่ให้หลงมัวเมาอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา ไม่ให้ถูกกิเลสตัณหาครอบงำได้
ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาน้้น เรามุ่งฝึกตนเพื่อให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหา อุปาทาน ทั้งหลายทั้งปวงได้ และให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดี อันจะเป็นตัวนำเราไปสู่สุคติภูมิ และบรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา นั่นคือพระนิพพาน
ที่ว่า “ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ” นั่นก็หมายความว่า เมื่อเราสามารถฝึกตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่หลงมัวเมาในอำนาจของกิเลสตัณหา ตนที่ฝึกดีแล้วนี่แหละ จะนำพาเราไปสู่หนทางแห่งความเจริญ ประดุจแสงสว่างที่ส่องทางให้เราเดินฉะนั้น
เพราะเมื่อเราฝึกตนตามแนวทางแห่งศีลธรรมอันดีงาม ย่อมจะเกิดปัญญาขึ้นมา และตัวปัญญานี่เองคือแสงสว่างที่ยอดเยี่ยมในโลก เมื่อฝึกตนด้วยดีมีปัญญาก่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราย่อมจะรู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด รู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ รู้ว่าทางไหนควรเดิน ทางไหนไม่ควรเดิน
เปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางวัน มีแสงสว่างทำให้มองเห็นโดยทั่วไป ย่อมสามารถรู้ได้ว่าตรงไหนเดินได้ ตรงไหนเดินไม่ได้ ทางไหนดี ทางไหนไม่ดี
หรือเปรียบเหมือนบุคคลที่เดินทางในเวลากลางคืน แต่มีไฟฉายอยู่ในมือ ย่อมสามารถใช้ไฟฉายส่องเพื่อสำรวจตรวจตราดูว่าทางไหนควรเดินทางไหนไม่ควรเดิน และสามารถเดินไปได้อย่างถูกทางและปลอดภัย
อันนี้เป็นลักษณะของคนที่ฝึกตนจนเกิดปัญญาเป็นแสงสว่างทำทางชีวิต ย่อมนำพาชีวิตของตนเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ เมื่อถึงคราวที่ต้องลาลับดับขันธ์ไป ตนที่ฝึกดีแล้วนี้ก็จะเป็นแสงสว่างนำทางไปสู่สุคติภูมิ
สรุปความว่า กรรมคือการกระทำ เป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางชีวิตของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย กรรมดีย่อมนำพาไปสู่ทิศทางที่ดี ส่วนกรรมชั่วก็ย่อมนำพาไปสู่ทิศทางที่เลวร้าย และผู้ที่กระทำกรรมก็คือตัวของเรานี่เอง ดังนั้น ตัวเราเองจึงเป็นคติที่ไปของตัวเราเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทั้งหลายจะต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีศีลธรรม ดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดี เพื่อสร้างแสวงสว่างนำทางชีวิตของเราไปสู่ทิศทางที่ดีในปัจจุบันชาติ และเป็นแสงสว่างนำทางไปสู่สุคติในสัมปรายภพต่อไป สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน คติ
ตนเทียว เป็นคติของตน
ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
