กระทู้ธรรม “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ”

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน
บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป
คนเราทุกคนเกิดมาบนโลกใบนี้ ย่อมต้องการที่พึ่งพาอาศัยด้วยกันทั้งนั้น แรกเกิดเราพึ่งพ่อแม่ในการเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ เมื่อถึงวัยอันควรเราพึ่งครูอาจารย์สั่งสอนวิชาความรู้ให้ เราพึ่งพาเพื่อนฝูงในการช่วยเหลือกิจต่าง ๆ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า เราเกิดมาแล้วต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ด้วยความราบรื่น
หากแต่ว่า ที่พึ่งอื่น หรือที่พึ่งภายนอก อันได้แก่ บุคคลอื่นนอกเหนือจากตัวเราเอง ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้เราได้ตลอดไป และไม่ใช่ที่พึ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน เราไม่สามารถพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่นได้ตลอดชีวิต เพราะทุกคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
ตามหลักพระพุทธศาสนา ที่พึ่งอันประเสริฐนั้นคือตัวเราเอง ไม่ใช่ผู้อื่น คนอื่นไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ไม่ว่าจะมั่งมีร่ำรวยแค่ไหน ก็พึ่งพาอาศัยได้ไม่เท่าตัวเราเอง
คำว่า “ตน” หรือตัวเรานี้ แบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนกาย และส่วนจิต ทั้งสองส่วนนี้ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ส่วนกาย ต้องพึ่งพาอาศัยส่วนของจิตในการสั่งการ ไม่ว่าจะทำ พูด คิด ประกอบกิจใด ๆ ก็แล้วแต่ ส่วนกายต้องอาศัยส่วนจิตในการสั่งการทั้งสิ้น
ส่วนจิต ก็ต้องอาศัยส่วนกายในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วง เพราะจิตไม่สามารถทำสิ่งใดได้เอง เป็นแต่เพียงสั่งการเท่านั้น ส่วนผู้กระทำคือกาย ที่คอยทำทุกสิ่งทุกอย่างตามคำสั่งการของจิต
จะเห็นได้ว่า กาย กับ จิต ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันตลอดเวลา จึงจะสามารถทำกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จประโยชน์ได้ อันนี้ว่าโดยพื้นฐาน
สาระสำคัญของคำว่า “ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน” นั้น ก็สืบเนื่องมาจาก สิ่งที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ “พระนิพพาน” พุทธศาสนาสอนให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตนเพื่อขจัดขัดเกลากิเลส เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพาน
ซึ่งการขจัดขัดเกลากิเลสก็ดี การที่จะไปให้ถึงพระนิพพานก็ดี เป็น “ปัจจัตตัง” คือเป็นเรื่องเฉพาะตน นั่นก็คือ ไม่มีใครสามารถทำแทนใครได้ ทุกคนต้องปฏิบัติเอง จึงจะได้ผลเอง
การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทั้ง 3 ประการ เราต้องทำด้วยตนเอง นั่นคือเราต้องพึ่งพาตนเองในการบำเพ็ญบารมี พึ่งคนอื่นไม่ได้เลยนั่นเอง การบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทั้ง 3 ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ ถือเป็นการฝึกตนให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดี เมื่อเราฝึกตนให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณงามความดีอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุให้เราได้ที่พึ่งอันประเสริฐที่ได้ยากอย่างยิ่ง นั่นคือพระนิพพาน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
ผู้มีตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก
ที่พึ่ง หมายถึง บุคคล สถานที่ หรือสิ่งของ ที่จะช่วยให้เราทำกิจต่าง ๆ สำเร็จได้โดยง่าย เช่น พ่อแม่ เป็นที่พึ่งให้เราในขณะที่เราเป็นเด็ก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่คอยช่วยเหลือเราทุกสิ่งทุกอย่าง
ครูอาจารย์ คอยช่วยเหลือเราโดยการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เราได้มีความรู้เพื่อการดำเนินชีวิต มีสติปัญญา รู้เท่าทันคน รู้เท่าทันโลก มีวิชาในการประกอบอาชีพ
เพื่อน เป็นที่พึ่งให้เราได้บ้างในบางโอกาส คอยช่วยเหลือเราให้ทำกิจบางอย่างสำเร็จลุล่วงได้
เรามีบ้านเรือนเป็นที่พึ่งในการพักพาอาศัย หลบแดดหลบฝน เป็นที่หลับนอน เป็นต้น
ที่พึ่งทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นที่พึ่งภายนอก เป็นที่พึ่งที่ไม่ยั่งยืน เป็นที่พึ่งธรรมดาสามัญ ยังไม่มีอะไรพิเศษ
แต่มีที่พึ่งอีกประเภทหนึ่งที่จัดว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ คือ บุญกุศล คุณงามความดี อันจะพาเราให้ประสพพบเจอแต่สิ่งดีงาม และพาเราไปสู่ภพภูมิที่ดีในวาระสุดท้ายของชีวิต
และที่พึ่งสูงสุดที่ได้ยากยิ่งนักก็คือ มรรคผลนิพพาน อันเป็นที่พึ่งสูงสุด เป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะที่พึ่งคือมรรคผลนิพพานนี้ จะเป็นสิ่งที่ป้องกันเราจากอบายภูมิได้เป็นอย่างดี
แต่การที่เราจะได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากนี้ เราต้องฝึกตนเสียก่อน ฝึกตนให้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง ฝึกตนให้ออกจากอบายมุขทั้งปวง ฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฝึกตนให้เป็นผู้ตั้งมั่นในศีลธรรม และฝึกตนให้เป็นผู้หมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
เมื่อฝึกตนให้ได้ดังกล่าวมานี้แล้ว จึงจะได้ที่พึ่งอันประเสริฐที่ได้โดยยาก นั่นคือ มรรค ผล นิพพาน
สรุปความว่า การสร้างคุณงามความดี การบำเพ็ญบารมีทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่ชาวโลกทั้งหลายต้องกระทำด้วยตนเอง คือต้องพึ่งพาตนเองในการสร้างบารมี คนอื่น ไม่มีใครสักคนที่สามารถสร้างบารมีแทนเราได้ เราต้องพึ่งตนเองเท่านั้น และการสร้างบารมีดังกล่าวนั้นถือเป็นการฝึกตน คือฝึกฝนอบรมตนเองให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี เมื่อบุคคลฝึกฝนอบรมตนเองให้ตั้งหมั่นอยู่ในคุณงามความดี สร้างบารมีอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้ ในที่สุด ย่อมจะสามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ได้ที่พึ่งที่ได้ยากอย่างยิ่งกล่าวคือพระนิพพาน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน
ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
