กระทู้ธรรม “อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ”

กระทู้ธรรม "อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ"

อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ

ผู้มีตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก

บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป

ที่พึ่ง หมายถึง บุคคล สถานที่ หรือสิ่งของ ที่จะช่วยให้เราทำกิจต่าง ๆ สำเร็จได้โดยง่าย เช่น พ่อแม่ เป็นที่พึ่งให้เราในขณะที่เราเป็นเด็ก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พ่อแม่คอยช่วยเหลือเราทุกสิ่งทุกอย่าง

ครูอาจารย์ คอยช่วยเหลือเราโดยการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้เราได้มีความรู้เพื่อการดำเนินชีวิต มีสติปัญญา รู้เท่าทันคน รู้เท่าทันโลก มีวิชาในการประกอบอาชีพ

เพื่อน เป็นที่พึ่งให้เราได้บ้างในบางโอกาส คอยช่วยเหลือเราให้ทำกิจบางอย่างสำเร็จลุล่วงได้

เรามีบ้านเรือนเป็นที่พึ่งในการพักพาอาศัย หลบแดดหลบฝน เป็นที่หลับนอน เป็นต้น

ที่พึ่งทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นที่พึ่งภายนอก เป็นที่พึ่งที่ไม่ยั่งยืน เป็นที่พึ่งธรรมดาสามัญ ยังไม่มีอะไรพิเศษ

แต่มีที่พึ่งอีกประเภทหนึ่งที่จัดว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ คือ บุญกุศล คุณงามความดี อันจะพาเราให้ประสพพบเจอแต่สิ่งดีงาม และพาเราไปสู่ภพภูมิที่ดีในวาระสุดท้ายของชีวิต

และที่พึ่งสูงสุดที่ได้ยากยิ่งนักก็คือ มรรคผลนิพพาน อันเป็นที่พึ่งสูงสุด เป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะที่พึ่งคือมรรคผลนิพพานนี้ จะเป็นสิ่งที่ป้องกันเราจากอบายภูมิได้เป็นอย่างดี

แต่การที่เราจะได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากนี้ เราต้องฝึกตนเสียก่อน ฝึกตนให้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง ฝึกตนให้ออกจากอบายมุขทั้งปวง ฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฝึกตนให้เป็นผู้ตั้งมั่นในศีลธรรม และฝึกตนให้เป็นผู้หมั่นเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

เมื่อฝึกตนให้ได้ดังกล่าวมานี้แล้ว จึงจะได้ที่พึ่งอันประเสริฐที่ได้โดยยาก นั่นคือ มรรค ผล นิพพาน ดังนั้น บัณฑิตชนคนดีทั้งหลาย ย่อมมุ่งที่จะฝึกตนเป็นหลัก เพื่อประโยชน์สูงสุดของชีวิต สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ว่า

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา

บัณฑิต ย่อมฝึกตน

คำว่า “บัณฑิต” แปลว่า ผู้ฉลาด มีปัญญา มีความรอบรู้ หมายถึง นักปราชญ์ ธีรชน ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

คำว่า “ฝึก” หมายถึง ทำให้เรียบ ทำให้ละพยศ ทำให้ตรง ทำให้ชำนาญ

พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ ท่านหมายเอาเนื้อความว่า คนที่ฉลาดนั้นย่อมหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ

ถ้าในด้านหน้าที่การงานก็จะหมายเอาการฝึกฝนความชำนาญในงานของตนให้คล่องแคล่วและพัฒนาอยู่เสมอ เป็นต้น

แต่ในแง่ของทางธรรมนั้น ท่านหมายเอาการฝึกตนให้เป็นคนมีศีลธรรม มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีปัญญาเข้าใจชีวิตเข้าใจโลกตามความเป็นจริง

ฝึกตนให้ดำรงอยู่ในกุศลกรรมบถทั้ง 10 ประการ เพื่อให้เป็นคนดีศรีสังคม สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและส่วนรวม บำเพ็ญประโยชน์ได้ทั้งประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

และที่สำคัญที่สุดก็คือ การฝึกขัดเกลาจิตใจของตนเองให้สะอาดปราศจากมลทินคือกิเลสตัณหาอยู่เสมอ ไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจของตนได้ อันเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา

สรุปความว่า การฝึกตน เป็นวิถีที่บัณฑิตชนคนดีทั้งหลายพึงดำเนิน คือแทนที่จะไปฝึกคนอื่นให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ผู้ฉลาดกลับหันมาฝึกตนแทน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตนเองนั้นเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคม เป็นผู้ดำรงมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาในชาติหนึ่งนี้ และเมื่อฝึกฝนอบรมตนดีแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะได้เข้าถึงธรรม ได้ที่พึ่งอันเกษมสูงสุดในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ มรรค ผล และนิพพาน สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า

อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ

ผู้มีตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก

ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.



You may also like...