กระทู้ธรรม “บุรุษไม่พึงให้ซึ่งตน”

อตฺตานํ น ทเท โปโส
บุรุษไม่พึงให้ซึ่งตน
บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป
คำว่า “ไม่พึงให้ซึ่งตน” หมายถึง ไม่ควรปล่อยตัวปล่อยใจให้เหลวไหลไร้สาระ หรือให้ไหลไปตามอำนาจของกิเลสอยู่ร่ำไป
ธรรมดาสภาพจิตใจของคนเรานั้นมันเปรียบเสมือนน้ำ คือมีปกติไหลลงสู่ที่ต่ำอยู่เสมอ ที่ไหนต่ำ น้ำก็ไหลไปที่นั่น จิตใจของคนเราก็เช่นกัน มักจะไหลไปสู่อารมณ์ต่ำ ๆ อยู่เสมอ
คำว่า “ให้ซึ่งตน” ก็คือ ปล่อยให้จิตไหลไปสู่อารมณ์ต่ำ ๆ นั่นเอง คือไม่พยายามประคับประคองจิตของตนให้อยู่ในอารมณ์ฝ่ายสูง ไม่หักห้ามใจให้งดเว้นการทำบาปอกุศล
คนเรานั้นควรใช้หลักธรรมคือความอดทนอดกลั้นมาประคับประคองใจ คอยข่มใจ คอยหักห้ามใจ ไม่ให้หลงไปทำกรรมชั่วช้าลามก ถ้าทำได้ดังนี้ถือว่าเป็นคนที่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปในอารมณ์ที่เป็นบาป เป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญ เพราะรู้จักฝึกตนให้มั่นคงในศีลธรรม ไม่ปล่อยใจไปตามอำนาจของกิเลส สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา
บัณฑิต ย่อมฝึกตน
คำว่า “บัณฑิต” แปลว่า ผู้ฉลาด มีปัญญา มีความรอบรู้ หมายถึง นักปราชญ์ ธีรชน ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
คำว่า “ฝึก” หมายถึง ทำให้เรียบ ทำให้ละพยศ ทำให้ตรง ทำให้ชำนาญ
พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ ท่านหมายเอาเนื้อความว่า คนที่ฉลาดนั้นย่อมหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ
ถ้าในด้านหน้าที่การงานก็จะหมายเอาการฝึกฝนความชำนาญในงานของตนให้คล่องแคล่วและพัฒนาอยู่เสมอ เป็นต้น
แต่ในแง่ของทางธรรมนั้น ท่านหมายเอาการฝึกตนให้เป็นคนมีศีลธรรม มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีปัญญาเข้าใจชีวิตเข้าใจโลกตามความเป็นจริง
ฝึกตนให้ดำรงอยู่ในกุศลกรรมบถทั้ง 10 ประการ เพื่อให้เป็นคนดีศรีสังคม สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและส่วนรวม บำเพ็ญประโยชน์ได้ทั้งประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน
และที่สำคัญที่สุดก็คือ การฝึกขัดเกลาจิตใจของตนเองให้สะอาดปราศจากมลทินคือกิเลสตัณหาอยู่เสมอ ไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจของตนได้ อันเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา
สรุปความว่า เราเกิดมาเป็นคนทั้งที ควรรู้จักฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีความมั่นคงในศีลธรรมอันดี ดำรงมั่นในหลักธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงบัญญัติให้ทำ อย่าปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอำนาจของกิเลส ซึ่งจะเป็นเหตุนำพาเราไปก่อกรรมทำชั่วนานาประการ และจะนำผลเสียมาสู่ตัวเอาเองในที่สุด สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า
อตฺตานํ น ทเท โปโส
บุรุษไม่พึงให้ซึ่งตน
ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
