กระทู้ธรรม “อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ”

กระทู้ธรรม "อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ"

อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ

ถ้าพร่ำสอนผู้อื่นฉันใด ก็ควรทำตนฉันนั้น

บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป

การที่จะเป็นผู้สอนที่ดีได้นั้น จะต้องทำตัวเป็นทั้งผู้แนะและผู้นำ ผู้แนะ คือผู้ที่คอยชี้ทางให้คนอื่น บอกให้เขารู้ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

ผู้นำ คือผู้ที่ทำตนเป็นตัวอย่างในแบบฉบับที่ดี ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมายบ้านเมือง ไม่ทำตัวเกเรเหลวไหลไร้สาระ ทำตัวดีให้คนอื่นเห็นและทำตามได้อย่างไม่ต้องลังเล

เพราะถ้าเราสอนคนอื่นอย่างเดียว สอนตัวเองไม่ได้ หรือสอนคนอื่นอย่างหนึ่ง แต่กลับทำตัวอีกอย่างหนึ่ง ย่อมจะไม่เป็นที่เคารพนับถือ ไม่น่าเชื่อถือ และคนอื่นก็ไม่เชื่อสิ่งที่เราสอน โดยมาคิดว่า คนคนนี้ได้แต่สอนคนอื่น แต่ตัวเองกลับทำไม่ได้

ดังนั้น พุทธศาสนาจึงสอนให้เราทั้งหลายทำตัวอยู่ในศีลธรรม และแนะนำผู้อื่นให้อยู่ในศีลธรรมด้วยเช่นกัน คือทั้งประพฤติดีเองด้วย ทั้งแนะนำคนอื่นในทางที่ดีด้วย อีกอย่างคือ สอนคนอื่นเช่นไร ก็ควรทำตัวเช่นนั้นเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ข้อบกพร่องของตัวเอง หากมีสิ่งใดไม่เหมาะไม่ควรก็ต้องปรับปรุงแก้ไข สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

ปฏิมํเสตมตฺตนา

จงพิจารณาตนด้วยตนเอง

การพิจารณา คือการเพ่งให้รู้ชัดว่า สิ่งนั้น ๆ เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี เป็นต้น

การพิจารณาตน หมายถึง การเพ่งดูจิตของตนเอง ให้รู้ชัดว่า สภาพจิตใจของเรานี้เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นบุญหรือเป็นบาป ถูกกิเลสครอบงำอยู่หรือไม่ เป็นต้น อีกอย่างหนึ่งคือ พิจารณาความประพฤติของตนเอง เพื่อให้รู้ว่าตนเองนั้นมีความประพฤติอย่างไร ดีหรือไม่ดี ประพฤติเหมาะสมแก่สถานะหรือไม่ เป็นต้น

เมื่อเราคอยพิจารณาจิตของตนเองอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เรารู้จักสภาพจิตของตนเอง รู้ธรรมชาติของตนเอง ว่าโดยปกตินั้นตนเองเป็นคนที่ค่อนไปทางไหน ทางดีหรือทางไม่ดี และเราจะนำสิ่งที่เราได้รู้ได้เห็นนี้มาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น

ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าตนเองเป็นคนเจ้าโทสะ ก็จะได้หาทางลดโทสะคือความโกรธให้เบาบางลงเสียได้

ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าตนเองเป็นคนเจ้าราคะ ก็จะได้หาทางลดราคะคือความกำหนัดให้เบาบางลงเสียได้

ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าตนเองเป็นคนเจ้าโมหะ ก็จะได้หาทางลดโมหะคือความหลงลงเสียได้

การพิจารณาตนเอง ก็เพื่อให้เห็นตนเองตามสภาพความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ปรับปรุงในส่วนที่บกพร่อง และพัฒนาส่วนที่ดีอยู่แล้วให้สมบูรณ์แบบยิ่ง ๆ ขึ้นไป

สรุปความว่า ผู้ที่มีหน้าที่จะต้องแนะนำพร่ำสอนคนอื่น เช่น พระภิกษุที่ต้องคอยเทศนาสั่งสอนญาติโยม ครูอาจารย์ที่ต้องคอยสั่งสอนลูกศิษย์ เป็นต้น จำเป็นจะต้องประพฤติตนให้เหมาะสม ปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับสิ่งที่ตนสอนคนอื่น ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และทำให้คนอื่นเห็นว่า เราไม่ได้แค่สอนคนอื่นเท่านั้น แต่ยังสามารถทำได้อย่างที่สอนคนอื่นด้วย นอกจากนี้ ยังต้องคอยพิจารณาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เห็นข้อบกพร่องของตนเองและปรับปรุงแก้ไขให้ดีอยู่เสมอ เช่นนี้ ก็จะได้รับการยอมรับนับถือจากคนอื่น สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า

อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ

ถ้าพร่ำสอนผู้อื่นฉันใด ก็ควรทำตนฉันนั้น

ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.



You may also like...