อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ “ตนทำบาปเอง ย่อมเศร้าหมองเอง”

อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ.

[คำอ่าน : อัด-ตะ-นา, วะ, กะ-ตัง, ปา-ปัง, อัด-ตะ-นา, สัง-กิ-ลิด-สะ-ติ]

“ตนทำบาปเอง ย่อมเศร้าหมองเอง”

(ขุ.ธ. 25/37, ขุ.มหา. 29/27, ขุ.จู. 30/116)

บาป คือสภาวะที่ทำให้ตกต่ำ หรือตกไปในที่ต่ำ หมายถึงความชั่วร้ายเลวทรามต่าง ๆ อันได้แก่ การทำชั่วทางกาย ที่เรียกว่า กายทุจริต อย่างหนึ่ง การทำชั่วทางวาจา ที่เรียกว่า วจีทุจริต อย่างหนึ่ง การทำชั่วทางใจ ที่เรียกว่า มโนทุจริต อย่างหนึ่ง

พระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า เราทำกรรมเช่นไร เราก็จะได้ผลเช่นนั้น และได้รับผลด้วยตัวเอง ไม่มีเลยที่คนหนึ่งทำกรรม แล้วผลกรรมนั้นจะไปตกอยู่ที่บุคคลอีกคนหนึ่ง ผู้ใดทำ ผลกรรมย่อมตกอยู่กับผู้นั้นแต่เพียงผู้เดียว

เหมือนกับเราเดินเหยียบโคลน โคลนนั้นจะไปติดเท้าบุคคลอื่นก็หาไม่ โคลนที่เราเหยียบย่อมติดอยู่ที่เท้าของเราแต่เพียงผู้เดียว

การทำบาปก็เช่นกัน ถ้าเราทำบาปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบาปทางกาย บาปทางวาจา หรือบาปทางใจก็แล้วแต่ ผลของบาปนั้นย่อมตกอยู่ที่เราแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ไม่มีใครสามารถมาแบ่งรับผลบาปร่วมกับเราได้

เมื่อบาปที่เราทำไว้มันให้ผล เราย่อมเศร้าหมองเมื่อได้รับผลของบาปด้วยตนเองอย่างแน่แท้

ดังนั้น จึงควรประคับประคองใจให้ดี อย่าให้เผลอไปทำบาป อย่าให้ยินดีในการทำบาป เพราะเมื่อบาปให้ผล ย่อมไม่ให้ผลในทางที่ดีเป็นแน่แท้