อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา “บัณฑิต ย่อมฝึกตน”

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา.

[คำอ่าน : อัด-ตา-นัง, ทะ-มะ-ยัน-ติ, ปัน-ทิ-ตา]

“บัณฑิต ย่อมฝึกตน”

(ม.ม. 13/487, ขุ.ธ. 25/25, ขุ.เถร. 26/389)

คำว่า “บัณฑิต” แปลว่า ผู้ฉลาด มีปัญญา มีความรอบรู้ หมายถึง นักปราชญ์ ธีรชน ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

คำว่า “ฝึก” หมายถึง ทำให้เรียบ ทำให้ละพยศ ทำให้ตรง ทำให้ชำนาญ

พุทธศาสนสุภาษิตบทนี้ ท่านหมายเอาเนื้อความว่า คนที่ฉลาดนั้นย่อมหมั่นฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ

ถ้าในด้านหน้าที่การงานก็จะหมายเอาการฝึกฝนความชำนาญในงานของตนให้คล่องแคล่วและพัฒนาอยู่เสมอ เป็นต้น

แต่ในแง่ของทางธรรมนั้น ท่านหมายเอาการฝึกตนให้เป็นคนมีศีลธรรม มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีปัญญาเข้าใจชีวิตเข้าใจโลกตามความเป็นจริง

ฝึกตนให้ดำรงอยู่ในกุศลกรรมบถทั้ง 10 ประการ เพื่อให้เป็นคนดีศรีสังคม สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและส่วนรวม บำเพ็ญประโยชน์ได้ทั้งประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

และที่สำคัญที่สุดก็คือ การฝึกขัดเกลาจิตใจของตนเองให้สะอาดปราศจากมลทินคือกิเลสตัณหาอยู่เสมอ ไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจของตนได้ อันเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา