กระทู้ธรรม “ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต”

ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต
บัณฑิตพึงทำตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิต
บัดนี้ จักได้อธิบายขยายเนื้อความแห่งกระทู้ธรรมภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้องต้น พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษาและประพฤติปฏิบัติ สำหรับผู้สนใจในทางธรรมเป็นลำดับสืบต่อไป
บัณฑิต หมายถึง ผู้มีปัญญา เฉลียวฉลาด รอบรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ สามารถถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละทิ้งสิ่งที่ไร้ประโยชน์เสียได้
โดยธรรมดา ผู้มีปัญญาชาญฉลาด ย่อมจะประคับประคองตนให้พ้นจากอบายมุข คอยขัดเกลาจิตใจของตนให้สะอาดผ่องแผ้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่เสมอ
กิเลส แปลว่า เศร้าหมอง หรือสภาวะที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสเหล่านี้แหละที่จะทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ไม่ว่าจะพูด จะทำ จะคิด ก็ย่อมจะเป็นไปในทางที่ผิดจากทำนองคลองธรรมอยู่เสมอ
ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราทั้งหลายหมั่นฝึกหัดขัดเกลาจิตใจตนเองให้ผ่องแผ้ว คือให้ปราศจากกิเลสอยู่เสมอ เมื่อจิตปราศจากกิเลสแล้ว ทั้งความคิด ทั้งการกระทำ ทั้งคำพูด ย่อมเป็นไปในทางที่เป็นบุญเป็นกุศล สร้างสรรค์ ก่อประโยชน์ ทั้งประโยชน์ในโลกนี้ และประโยชน์ในโลกหน้า สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า
อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณฺหาติ ปณฺฑิโต
บัณฑิตผู้ไม่ประมาท ย่อมได้รับประโยชน์ทั้งสอง
คำว่า “ประโยชน์ทั้งสอง” หมายถึง ประโยชน์ในโลกนี้ และประโยชน์ในโลกหน้า
ประโยชน์ในโลกนี้ คือการได้รับการยกย่องนับถือ ความสุขความเจริญ การเป็นอยู่ดี เป็นต้น ที่สามารถเห็นได้ในขณะยังมีชีวิตอยู่
ประโยชน์ในโลกหน้า คือการได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี และมีความสุขความเจริญในภพภูมินั้น ๆ
ผู้ที่ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต หมั่นสั่งสมอบรมคุณงามความดีอยู่เสมอ ย่อมจะได้รับประโยชน์ทั้งสองประการดังกล่าวมาแล้ว
คือเมื่อไม่ประมาทในการบำเพ็ญทิฏฐธัมมิกัตถะ อันเป็นประโยชน์ในโลกนี้ ประกอบด้วย การขยันประกอบการงาน การรู้จักรักษาทรัพย์สินมิให้สูญเปล่า การรู้จักเลือกคบกัลยาณมิตร และการเลี้ยงชีวิตโดยสมควร ประโยชน์ในโลกนี้ก็ไม่เสีย แถมยังสมบูรณ์เพิ่มพูลอีกด้วย
และไม่ประมาทในการบำเพ็ญสัมปรายิกัตถะ อันเป็นประโยชน์ในโลกหน้า คือ ฝึกตนให้เป็นผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา รักษาศีลให้สมบูรณ์ รู้จักเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นและส่วนรวม และหมั่นเจริญปัญญาภาวนา ประโยชน์ในโลกหน้าเขาก็ไม่พลาด เพราะไม่ประมาท ได้บำเพ็ญไว้อย่างดีแล้วนั่นเอง
สรุปความว่า บัณฑิตชนคนดีผู้ไม่ประมาท ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งลวงโลกทั้งหลาย ไม่ประมาทในการสร้างคุณงามความดี หมั่นชำระจิตของตนให้สะอาดผ่องแผ้วจากกิเลสทั้งปวงอยู่เสมอ ด้วยการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทั้ง 3 ส่วน คือ ทาน ศีล และภาวนา อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อทำได้ดังนี้ ย่อมจะไม่พลาดจากประโยชน์ทั้ง 2 ส่วน คือ ประโยชน์ในโลกนี้ และประโยชน์ในโลกหน้า สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบท ณ เบื้องต้นว่า
ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต
บัณฑิตพึงทำตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิต
ซึ่งมีอรรถาธิบายดังได้บรรยายมาแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
